นักออกแบบไทยเฮ สภาฯเห็นชอบ ไทยเข้าภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ

30 พ.ย. 2565 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 20:12 น.

สภาฯ โหวตเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯมุ่งเป้าช่วยคนไทยขอรับความคุ้มครองออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น  กระตุ้นส่งออกและสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมด้านการออกแบบไทยในเวทีโลก

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดันการปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรของไทยให้ทันสมัยตอบโจทย์การค้ายุคปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ ส่งผลให้คนไทยขอรับความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

โดยสามารถยื่นเพียงคำขอเดียวและเลือกรับความคุ้มครองได้ถึง 93 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ การเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทย กระตุ้นให้เกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการค้าให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนักออกแบบของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

นักออกแบบไทยเฮ สภาฯเห็นชอบ  ไทยเข้าภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ

ทั้งนี้การเข้าเป็นภาคีดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (ASEAN IPR Action Plan 2016-2025) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการออกแบบในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยซึ่งถือได้ว่ามีนักออกแบบที่มีศักยภาพมีการผลิตผลงานออกแบบที่มีคุณภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนผลงานการออกแบบเพื่อขอรับความคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

นักออกแบบไทยเฮ สภาฯเห็นชอบ  ไทยเข้าภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ

โดยมีสถิติการยื่นจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงถึง 3,500 คำขอต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 70% ของคำขอที่ยื่นทั้งหมด ดังนั้นการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ จึงนำมาซึ่งโอกาสของนักสร้างสรรค์ไทยที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญได้อย่างมั่นใจและต่อยอดความสำเร็จได้ไกลในเวทีโลก

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า หลังจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเดินหน้าภารกิจเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีดังกล่าว ทั้งในด้านการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กัภาคเอกชนและภาคประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมภาคีฯ ด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ

รวมไปถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ และการตรากฎหมายอนุบัญญัติเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าเป็นภาคีความตกลงฉบับนี้