“จุรินทร์”ขอ USTR ปลดไทยพ้นบัญชี WL ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

18 พ.ย. 2565 | 18:08 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2565 | 01:21 น.

“จุรินทร์” ถก USTR สหรัฐฯ ช่วงประชุมเอเปค ขอช่วยปลดไทยจากบัญชี WL ประเทศถูกจับตามองละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หวังช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านการค้า ประเทศน่าลงทุน ยันไทยพร้อมร่วมมือสหรัฐฯ ในเวที อินโด-แปซิฟิก

ผู้สื่อข่าวรายงาน (18 พ.ย. 2565) นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ได้แถลงผลการหารือทวิภาคีกับ นางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้มีการหารือในบรรยากาศภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีมากระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยประเด็นที่ทางสหรัฐฯหยิบยกขึ้นมาหารือ มี 3 ประเด็นหลัก

บรรยากาศการหารือไทย-ยูเอสทีอาร์

 

  • ประเด็นแรก เรื่องการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้

ทางยูเอสทีอาร์ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทย ที่ทำหน้าที่เจ้าภาพได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งในปีหน้าสหรัฐอเมริกาจะรับไม้ต่อจากประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  APEC 2023   ซึ่งตนได้ให้ความมั่นใจสหรัฐฯจะทำหน้าที่เจ้าภาพได้ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน

 

  • ประเด็นที่ 2  กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนหลัก และความร่วมมือได้กำหนดไว้ 4 เสาหลักได้แก่  1.การค้า  2.ห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain 3.พลังงานสะอาด  และ 4.ปราศจากการทุจริต เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้น

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงผลการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ

 

“ทั้ง 4 เสาหลักนี้ประเทศไทยแสดงความจำนงเข้าร่วมก่อนหน้านี้แล้ว และผมได้เน้นย้ำอีกครั้งเพราะในการพบกันในการประชุมครั้งที่แล้วตอนที่ผมได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปคได้มีโอกาสพบกับท่านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งได้ยืนยันอีกครั้งว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งท่านขอบคุณประเทศไทยที่แจ้งความจำนงเข้าร่วม”
 


สำหรับรายละเอียด เช่น เสาการค้า กระทรวงพาณิชย์จะเป็นกระทรวงหลักในการรับผิดชอบ อาจจะมีเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงานและเรื่องใหม่ที่จะเป็นประเด็นหารือต่อไป เช่น การค้าดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการค้า และความร่วมมือด้านเทคนิคต่าง ๆ ด้านการค้าและเศรษฐกิจเป็นต้น โดยประเทศไทยจะร่วมหารือในรายละเอียดต่อไป

 

  • ประเด็นที่ 3  ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯในทางการค้า

ซึ่งปัจจุบันไทยและสหรัฐฯ มีกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment  Framework Agreement: TIFA) ได้เห็นตรงกันว่าควรได้มีการจัดการประชุมที่สหรัฐฯในครั้งถัดไป เพราะครั้งล่าสุดไทยได้เป็นเจ้าภาพมาแล้วเมื่อปี 2562  แต่ได้หยุดชะงักไปจากสถานการณ์โควิดที่ไม่เอื้ออำนวย

 

ส่วนประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่ได้หยิบยกขึ้นมาหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ คือ ในเดือนเมษายนปีหน้า สหรัฐอเมริกาจะพิจารณาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งได้ขอให้ทางสหรัฐฯพิจารณาปลดประเทศไทยออกจากบัญชีนี้ เพราะ ณปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาในทุกด้าน ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระดับที่ดีมาก

 

“เรื่องนี้ทางผู้แทนการค้าสหรัฐฯได้รับไปพิจารณา ซึ่งได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอที่ให้ปลดออกไทยจากบัญชีถูกจับตามอง หรือ WL ซึ่งขณะนี้ยังมีประเทศที่ยังติดบัญชี WL ด้วยกัน 19 ประเทศ ซึ่งมีไทยอยู่ในนั้นด้วย หากสหรัฐฯพิจารณาปลดออกจากบัญชีนี้ จะทำให้สถานะประเทศไทยด้านการให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาดูดีขึ้น และ มีภาพลักษณ์ทางการค้า ทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับหลายประเทศในโลกในอนาคตต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

 

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น โดยช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+27.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-9.7%) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+202.4%) อัญมณีและเครื่องประดับ (31.2%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ (36.0%) เป็นต้น