“พาณิชย์” ถกรัฐมนตรีอาเซียน ชูโมเดล BCG ของไทย

10 พ.ย. 2565 | 17:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2565 | 00:32 น.

“พาณิชย์” ถกรัฐมนตรีอาเซียน ชูโมเดล BCG ของไทย  หนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งผลักดันความร่วมมือ 3 สาขาไฮไลท์ ทั้งอาหาร การเกษตรและป่าไม้ พลังงาน และการขนส่ง เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้าให้สำเร็จในปีหน้า

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมหารือวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และรัฐมนตรีอาเซียน 3 สาขา ได้แก่ รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน และรัฐมนตรีด้านการขนส่งอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา   

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 ทั้งนี้อาเซียนตระหนักถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งเป็นประเด็นคาบเกี่ยวหลายสาขาและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

 โดยมี 3 สาขาที่เป็นไฮไลท์ ได้แก่ สาขาอาหาร การเกษตรและป่าไม้ สาขาพลังงาน และสาขาการขนส่ง จึงนำมาสู่การประชุมเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันครั้งนี้ โดยผลการหารือมุ่งเน้นเตรียมการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (ASEAN Strategy for Carbon Neutrality) ซึ่งจะเป็นการต่อยอดข้อริเริ่มระดับภูมิภาคที่มีอยู่ อาทิ กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนอื่นๆ ภายใต้ประชาคมอาเซียน ทั้งสามเสา โดยอาเซียนตั้งเป้าจะจัดทำยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จในปี 2566

“พาณิชย์” ถกรัฐมนตรีอาเซียน  ชูโมเดล BCG ของไทย

“อาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการมียุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคด้านความยั่งยืน โดยจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ อาทิ การเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า และสนับสนุนให้เอกชนสามารถปรับตัวรองรับมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต”

“พาณิชย์” ถกรัฐมนตรีอาเซียน  ชูโมเดล BCG ของไทย

ทั้งนี้ อาเซียนแสดงถึงความมุ่งมั่นตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) โดยการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 (COP 26) เมื่อปี 2564 ณ สหราชอาณาจักร ซึ่งไทยได้เน้นย้ำว่า มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในหรือก่อนปี 2608

ตลอดจนชูโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่ไทยนำมาเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งรักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ คู่ขนานกับการยกระดับมาตรฐานและระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม