5 กลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โมเดล

29 ต.ค. 2565 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2565 | 21:17 น.
697

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก แจง 5 กลไก ผลักดันไทยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เผยปัจจุบัน มีเพียงเป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ที่ไทยบรรลุเป้าหมายแล้ว

นายวิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO เปิดเผยว่า มลพิษในสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย เนื่องจากปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น ประเทศไทยจึงใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ

 

ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในปี 2030 ที่มีทั้งสิ้น 17 เป้าหมายและ 169 เป้าประสงค์

 

กลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 

  1. โครงการที่ดำเนินการตามกลุ่มเป้าหมายหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน 
  2. แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน 
  3. โครงการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน 
  4. การสร้างชุมชนและบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 
  5. การสร้างตลาดสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การออกนโยบาย/กฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

จากผลการประเมินในปี 2021 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก เป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับ 3 ของเอเชีย อย่างไรก็ดี มีเพียงเป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่เท่านั้น ที่ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายแล้ว 

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่ 13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น อยู่ในสถานะที่ความท้าทายสำคัญยังคงอยู่  

 

ในการประชุมเอเปค 2022 เดือนพฤศจิกายน ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพนั้น จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งครอบคลุมความมั่นคงทางอาหารความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีวิสัยทัศน์คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี 

 

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

 

1) การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ 

2) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง 

3) ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

4) การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก 

 

ปัจจุบัน สาขาที่ประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนา คือ ด้านเกษตรและอาหาร ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจ โรคระบาด ภัยก่อการร้าย รวมถึงมลพิษและสิ่งแวดล้อม 

 

อย่างไรก็ตาม การเดินนโยบาย BCG จะต้องดำเนินภายใต้จุดยืน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทยคือ การเป็นครัวโลก การเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในผลิตภัณฑ์รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีการพัฒนาสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

 

 รายละเอียดการเปลี่ยนจากแนวคิดเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่นำทรัพยากรมาผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำวัตถุดิบจากสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (Make-Use-Return) ได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้ 

 

  1. การสร้างโอกาสทางธุรกิจโมเดลและสร้างตลาดด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
  2. การส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการนำของเสียกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ 
  3. การพัฒนาแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ 
  4. การสร้างกลไลการบริหารจัดการเพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 
  5. การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคที่ยังยืน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1) การลดการใช้ทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจ (Closing the Loop) ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ด้วยการหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2) การสร้างการเจริญเติบโตด้วยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยมีส่วนในการเพิ่มขึ้นของ GDP  1% ภายใน 10 ปี 3) การลดโลกร้อน โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2027  

 

ส่วนการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องครอบคลุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งกลายเป็นขยะและนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การบริหารจัดการขยะพลาสติกประเภท PET และ PE ให้เป็นระบบปิดที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2030 รวมถึงการลดขยะพลาสติกที่ทิ้งลงในทะเล 50% ภายในปี 2027 

 

อย่างไรก็ตาม การลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และการรีไซเคิลพลาสติกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ผ่านโครงการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ซึ่งได้มีโครงการนำร่อง เช่น คลองเตยโมเดล เป็นตัวอย่างสำหรับการประยุกต์ใช้การบริหารจัดการขยะตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในเขตชุมชนเมือง โดยเลือกห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม และอาคารสำนักงาน เข้าร่วมโครงการรวม 7 อาคาร ผลการดำเนินงานพบว่ามีขยะลดลง 21% และสัดส่วนการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น 55.8%

 

การสร้างจุด Drop Point ประมาณ 500 จุดเพื่อรับขยะพลาสติกแบบแยกประเภทตามปั๊มน้ำมันและห้างสรรพสินค้า ซึ่งในปี 2021 สามารถรวบรวมพลาสติกได้กว่า 20,000 กิโลกรัม สามารถขายได้กิโลละ 5 บาท และนำเงินที่ได้ไปบริจาคเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำในทะเล 

 

ส่วนระยองโมเดล ภายใต้ชื่อผนึกกำลังสร้างระยองต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน (Rayong Less-Waste) เป็นตัวอย่างระดับจังหวัดที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยนำพลาสติกไปรีไซเคิลเป็นถนน ถังขยะ อิฐ เสื้อผ้า แลไม้เทียมเป็นต้น