เปิดสารัตถะ “เป้าหมายกรุงเทพฯ”: ผู้นำเอเปค 2022 ชูแนวคิด BCG พลิกเศรษฐกิจโลก

18 ต.ค. 2565 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 23:30 น.

การประชุมสุดยอดเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพใกล้เข้ามาทุกที เนื้อหาสาระของแถลงการณ์ผู้นำ ที่เรียกกันว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ” (Bangkok Goals) ในปีนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระระดับโลกให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่จะเป็นผลิตผลของการพูดคุยในระดับผู้นำ กลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในปีนี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ คือการนำแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือที่เรียกว่า แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy : BCG ) มาเป็นบรรทัดฐานในการทำธุรกิจ-การค้า-การลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิก โดยจะมีการบรรจุไว้ในเอกสารระดับผู้นำที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ” หรือ “Bangkok Goals

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ “เป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” จะเป็นเหมือนคัมภีร์ เป็นแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) ที่จะเป็นตัวกำกับการทำการค้าการลงทุนระหว่างกันของ 21 เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปคนับจากนี้ไป ประกอบด้วยเป้าหมาย 4 ประการ คือ

   

  • ประการแรก ภาคธุรกิจจะมีความรับผิดชอบอย่างไรต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เคยมีการพูดกันเลยในเวทีเอเปค
  • ประการที่สอง จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรเพื่อให้การค้าการลงทุนนั้นๆ มีความยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งความยั่งยืน (sustainability) หมายความถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสร้างมลพิษ ไม่สร้างของเสียออกมา หรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม
  • ประการที่สาม การดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การนำของกลับมาใช้ (recycle) และเศรษฐกิจหมุนเวียนต่างๆ
  • ประการที่สี่ เป็นเรื่องที่อยู่ในใจคนไทยมานาน ว่าเราจะบริหารจัดการขยะอย่างไร

 

ทั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นเหมือนเป้าหมายในการทำงานร่วมกันของ 21 เขตเศรษฐกิจในเอเปคนับจากนี้เป็นต้นไป

 

การทำกำไรสูงสุด ใช่ว่าจะเกิดผลดีเสมอไป

“เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะว่าในการทำการค้าการลงทุนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก ถ้าเราย้อนไปตอนก่อตั้ง (ค.ศ.1993) ผู้นำเอเปคมุ่งมั่นอยากเห็นการเปิดตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเพิ่มปริมาณการค้า-การลงทุนหลังสงครามเย็นยุติลง แต่เกือบ30 ปีให้หลังมาจนถึงปัจจุบัน เรากลับพบว่า การผลักดันให้รัฐและบริษัทเอกชนทำกำไรสูงสุด ใช่ว่าจะเกิดผลดีเสมอไป ในทางกลับกัน มันกลับส่งผลต่อทรัพยากร ธรรมชาติและพลังงาน ที่ถูกถลุงใช้และเผาผลาญอย่างรวดเร็วเกินไป”

การผลักดันให้รัฐและบริษัทเอกชนทำกำไรสูงสุด ใช่ว่าจะเกิดผลดีเสมอไป

การบรรจุแนวคิด BCG ไว้ใน “เป้าหมายกรุงเทพฯ” รับรองและประกาศโดยผู้นำเอเปค จะเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่าง ธุรกิจที่ต้องการความสนับสนุนด้านการลงทุน หากไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่รับผิดชอบในแง่ผลกระทบต่อสังคม หรือชุมชนท้องถิ่น ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงิน หรืออาจจะไม่ได้รับความสะดวกด้านภาษีที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ เป็นต้น

 

มาตรวัดความสำเร็จ

“มันจะเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ จับต้องได้ หากภาคส่วนต่างๆร่วมมือกันทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา นี่จะเป็น benchmark หรือมาตรวัดความสำเร็จของการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ นี่คือภาพคร่าวๆ ที่เราต้องการที่จะเห็นในการประชุมผู้นำในวันที่ 19 พ.ย.นี้”

 

อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศย้ำว่า เนื้อหาสาระของ “เป้าหมายกรุงเทพฯ”นั้นไม่เพียงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย แต่ยังเป็น “วาระโลก” ที่นานาประเทศรวมทั้งในเวทีของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ให้ความสำคัญ และยิ่งจะสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้า

 

“พูดถึงประเด็นนี้ ผมคิดว่าใน 3-4 ปีข้างหน้าเมื่อเราย้อนกลับมาดูการขับเคลื่อนของเราในปีนี้ เราจะได้เห็นความก้าวหน้ามากขึ้นในการขจัดปัญหาขยะ มีการเดินหน้าไปสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเราให้ความสำคัญ เราจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในการสร้างพื้นที่ป่าให้แตะเป้าหมาย 40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ขณะที่วันนี้เราเพิ่งมาได้เพียง 31% ถ้า 3-4 ปีข้างหน้า เราสามารถที่จะช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่าของเราให้แตะเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผมจะสามารถพูดได้เต็มปากว่า การที่เรานำเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เข้ามาเป็นส่วนกระตุ้นความสนใจและความตระหนักรู้ในสังคมไทยหรือในระดับภูมิภาคในฐานะที่เราเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้ ถือว่านี่คือการประสบความสำเร็จ”

 

ถามว่าจากการได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นในสภาหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมฯ ทางภาคเอกชนให้ความเห็นอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้ อธิบดีเชิดชายกล่าวว่า เอกชนให้การตอบรับและพร้อมให้ความสนับสนุนการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นอย่างดี เพราะเรื่องนี้เป็นวารระดับโลก มีการตระหนักรู้ในภาคธุรกิจมาระดับหนึ่งแล้ว

 

คิกออฟแล้วที่กรุงเทพฯ สหรัฐส่งลูกต่อ 

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีต่อ ๆ ไปในอนาคตข้างหน้า ก็จะยังให้น้ำหนักความสำคัญในเรื่องนี้ โดยในการหารือกับคณะทำงานของสหรัฐอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า ( 2023) พบว่า สหรัฐจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ หลังจากปีของสหรัฐ ถัดไป (2024) ก็จะเป็นปีของเปรูเป็นเจ้าภาพซึ่งเป็นครั้งที่สามของเปรูที่จะได้เป็นเจ้าภาพเอเปค ประเด็นหลักที่เปรูจะชู คือการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่อยู่ในธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal business) ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของจีดีพีของเปรู

 

“ แน่นอนว่าการเน้นให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสมรรถนะให้คนกลุ่มนี้ก็จะมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เนื่องจากการเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (inclusivity) ในระบบแนวคิดนี้ นับเป็นหัวใจสำคัญของ BCG” อธิบดีเชิดชายในฐานะหัวหน้า task force APEC2022 กล่าว และว่า

 

ในปี 2025 ซึ่งเป็นปีที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ลูกบอลแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยคิกออฟแล้วในปีนี้ และถูกส่งต่อจากเจ้าภาพเอเปคในปีถัดไป สู่ปีถัดๆไป เพื่อยิงประตูเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเกาหลีใต้นั้นทุกคนทราบกันดีว่าเป็นเจ้าแห่ง Green Economy

 

“เพราะฉะนั้น ไม่มีเครื่องหมายคำถามเลยว่าเขาจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ในลักษณะที่เป็นเวาระแห่งภูมิภาคมากๆ ฉะนั้นในระยะ 3-4 ปีข้างหน้าผมเชื่อว่าเราจะมีการรับลูกที่ต่อเนื่องดีมาก ๆ อย่างแน่นอน”