ผ่าโจทย์ใหญ่ 'เศรษฐกิจไทย' แนะโชว์ศักยภาพประเทศ หน้าฉาก'ประชุมเอเปค'

04 ต.ค. 2565 | 13:44 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 21:15 น.

หอการค้า ผ่าโจทย์ใหญ่ ทิศทางเศรษฐกิจไทย แนะรัฐ โชว์ศักยภาพประเทศ ในการประชุมเอเปค 2022 เพื่อดึงดูดสายตาต่างชาติ พร้อมเสนอ ปลดล็อกกฎหมายธุรกิจล้าหลัง ดัน สตาร์ทอัพไปต่อ

4 ต.ค.2565 - เกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจ งาน Thailand Economic Outlook 2023 ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยในวงเสวนา  'ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2023 รอดหรือร่วง' นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุถึง ความเสี่ยง และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า ว่า ประเมิน ปี 2566 เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังคงมีความท้าทายสูงมาก จากปัญหา การขาดแคลนพลังงาน และ ห่วงโซ่อุปทานโลกมีปัญหา อาจส่งผลให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

โดยตัวแปรสำคัญ อยู่ที่ว่า ในฤดูหนาวที่จะมาถึง ยุโรป จะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน จากวิกฤติด้านพลังงานที่เผชิญกันอยู่ เช่นเดียวกับ ด้านการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่พยายามใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย กดเงินเฟ้อจากระดับสูง 9% สู่กรอบเป้าหมาย 2% ทำให้ทั่วโลกได้รับแรงกดดัน 

 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งตัวแปร ที่น่าจับตามองสูงสุด คือ การกลับมารีโอเพน ของประเทศจีน หลังจากดำเนินนโยบาย ซีโร่โควิด มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยคาดหวังว่า 16 ต.ค.นี้ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่ เพื่อต่ออายุทางการเมือง ให้กับ นายสี จิ้นผิง จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจใหญ่ของเอเชีย ซึ่งมีจะผลช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้ 

ส่วนประเทศไทย หอการค้าฯ ประเมินว่า แม้วันนี้ ยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยรุมเร้า แต่คากการส่งออกปี 2565 จะยังเติบโตได้ตามเป้า 6-8% เนื่องจาก  7 เดือนแรก มีสัญญาณที่ดี ซึ่งล้วนมาจากการทำงานของรัฐและเอกชน เช่นเดียวกับ ภาคการท่องเที่ยว คาดว่า ปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาในประเทศมากถึง 9 ล้านคน ขณะปีหน้า หอการค้าฯ และ ททท. กำลังวางแผนร่วมกัน เพื่อผลักดันเป้าหมายใหม่ คาดจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20 ล้านคนในปี 2566 เม็ดเงิน 1.73 ล้านล้านบาท โดยยังไม่นับรวม แนวโน้มจากประเทศจีน ซึ่งหากปีหน้า จีนปลดล็อกนโยบาย ก็จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

ส่วนภาคการเกษตร ที่มีปัญหา อยู่ระหว่างการเตรียมผลักดัน นโยบายใหม่ๆ เพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าของสินค้า และต่อยอดจากปัจจัยหนุน เช่น การขาดแคลนอาหารของโลก ซึ่งจะถือเป็นโอกาสกับประเทศไทยอย่างมาก จากจุดแข็งที่มี 

 

นายสนั่น ยังระบุว่า ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีโจทย์ใหญ่ ในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ เพราะภาพรวมจีดีพีไทยเรายังต่ำ สะท้อนขีดความสามารถที่ยังไม่โดดเด่น จำเป็นต้องหารือกับรัฐบาลว่าจะผลักดันด้านนี้อย่างไรได้บ้าง เพราะนี่จะเป็นตัวจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีไทยในอนาคต 

 

ขณะภาคอุตสาหกรรมใหญ่ ที่อยากเห็นรัฐขับเคลื่อนอย่างจริงจัง คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะอสังหาฯไทย มีจุดแข็ง ความได้เปรียบหลายเรื่อง เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ และ เวียดนาม มองเป็นเป็นโอกาสของไทย ในการปรับแก้กฎหมาย ครอบคลุมทั้ง บ้าน คอนโด และที่ดิน ในโซนที่ต่างชาติให้ความนิยม เป็นต้น  อย่างไรก็ดี เวทีการประชุมเอเปค2022 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปีนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่จะโชว์ศักยภาพดึงดูดการลงทุนในหลายๆด้านมายังประเทศไทย โดยเฉพาะ การผลักดันต่อยอดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นต้น 


ทั้งนี้ หอการค้าไทยฯ ยังเสนอข้อเรียกร้อง ไปยังรัฐบาลชุดใหม่ จากสัญญาณการเตรียมจัดเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ แม้เศรษฐกิจไทย ถูกขับเคลื่อนด้วยความเข้มแข็งของภาคเอกชนเป็นหลัก แต่เอกชน อยากให้รัฐบาลสนับสนุน ช่วยปลดล็อกเปิดประตูให้การดำเนินธุรกิจหลายๆด้าน อย่างเช่น กรณี  ปัญหาการถูกจีนระงับการส่งออกผลไม้ หรือ กรณี ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพบว่า การไปสานสัมพันธ์ทางการฑูต ทำให้ท้ายที่สุดก็สามารถปลดล็อก และต่อยอดได้ทันที  

 

ขณะเดียวกัน อยากให้แก้กฎหมายที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การขอใบอนุญาตทางออนไลน์ ,การผลักดันสตาร์ทอัพผ่านกฎหมายใหม่ๆ และที่สำคัญ คือ การแสดงศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อให้นานาประเทศชาติ เกิดความเชื่อมั่น และอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เป็นต้น 


" ขณะนี้ การลงทุน และ การท่องเที่ยว เป็นความหวังสูงสุดของเอกชน อยากให้รัฐใช้ช่วงจัดการประชุมเอเปค 2022 สร้างโอกาสให้นานาชาติเห็นศักยภาพของประเทศไทยในด้านต่างๆ ขณะเดียวกัน ควรแก้กฎหมายที่ล้าหลัง ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และ ผลักดันกฎหมายใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนความคึกคักของ สตาร์ทอัพ สัญชาติไทย อีกด้วย " 

ผ่าโจทย์ใหญ่ \'เศรษฐกิจไทย\' แนะโชว์ศักยภาพประเทศ หน้าฉาก\'ประชุมเอเปค\'