zero-carbon

"ประยุทธ์" เปิดเวที GCNT Forum 2022 ย้ำเป้าหมายกรุงเทพฯ BCG ขับเคลื่อน Net Zero

    "พลเอกประยุทธ์" ปาฐกถาเวที GCNT Forum 2022 นำเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนประเทศสู่ Net Zero ด้าน "ศุภชัย"นายก GCNT ย้ำต้องเร่งแก้ปัญหาระบบนิเวศน์ ควบคู่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) หัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติโดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุม GCNT Forum 2022 ถือเป็นโอกาสในการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) โดยไทยได้ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคในยุคหลังวิกฤตโควิด – 19 เพื่อให้ทุกประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” 

รัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติถือเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย การที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ได้เสนอหลักการ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจหลักและมี “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

 

จากสถิติและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงประสบการณ์ของไทย จะเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว 

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 หรือโรคอุบัติใหม่ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ​ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง 

 

ในส่วนของประเทศไทยต้องกำหนดจุดยืน นโยบายอย่างรอบครอบ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 

 

“ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนมีแสงสว่างในการดำรงชีวิตในทุกมิติ ถือเป็นรากฐานของธุรกิจ BCG​ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พลเอกประยุทธ์กล่าว

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ จะบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม​ต่อเนื่องในระยะยาว สอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยไทย ​

 

ส่วนการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ การสร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มองค์รวม

 

​นอกจากนี้ ไทยได้ทำงานเชิงรุกในการกำจัดขยะทางทะเล​ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดทำตราสารระหว่างประเทศ ว่าด้วยการจัดการขยะพลาสติก​ ทบทวนเขตการค้าเสรีที่เน้นการส่งเสริมการค้าแบบใหม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับสาธารสุข​ไปพร้อมกัน

 

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ประกาศสนับสนุนการประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเป็นศูนย์ ค.ศ. 2050 หรือช้าสุด2070 โดยสมาชิกสมาคมฯ ได้ร่วมกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เปรียบเท่ากับการลดปริมาณรถบนถนน 1.6 ล้านคัน

 

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาโลกร้อน นอกจากการฟื้นฟูและปกป้องสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายและร้ายแรงอย่างมาก คือ การถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ได้รายงานว่าใน 40 ปีที่ผ่านมาการถดถอย ของความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมลดลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ทะเล นก  สัตว์เลื่อนคลาน ลดลงถึง 68% 

 

ขณะที่ World Economic Forum ได้ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจโลกว่า ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศบริการกว่า  50% หรือ 44 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น

ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมูรณ์ของระบบนิเวศน์ จึงมีความสำคัญมากๆ ต่อเศรษฐกิจทุกสาขา

 

สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนขณะนี้ จึงต้องทำทั้งการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดก้าวหน้า เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างให้เกิดประโยชน์ ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และระดับเอสเอ็มอี ต้องร่วมกันขับเคลื่อน สนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินการทุกอย่างให้บรรลุเป้า และมีการรายงานอย่างโปร่งใส เพื่อให้ธุรกิจและเศรษฐกิจโลก สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป