เปิดกำหนดการประชุมรมต.เอเปค 16-17 พ.ย.เน้นขับเคลื่อน BCG

29 ต.ค. 2565 | 19:42 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2565 | 03:16 น.

“พาณิชย์” เปิดกำหนดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค 16-17 พ.ย.  ตั้งเป้าขับเคลื่อน BCG Model ฟื้นฟูความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน ก่อนชงผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรอง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย.2565 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ในวันที่ 16–17 พ.ย.2565 โดยเริ่มจากในช่วงค่ำของวันที่ 16 พ.ย.2565 จะมีงานเลี้ยงต้อนรับรัฐมนตรีการค้าและต่างประเทศเอเปคที่เดินทางเข้าร่วมการประชุม และในวันที่ 17 พ.ย.2565

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จะเป็นการประชุม AMM เต็มวัน ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกรับรองต่อไป
 

โดยกำหนดการประชุมวันที่ 17 พ.ย.2565 ช่วงเช้าจะเป็นการประชุมในหัวข้อ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth) เน้นการหารือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และในการประชุมช่วงกลางวัน (Working Lunch) จะเป็นหัวข้อ“การกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค”(Reconnecting the region) เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วม
         
ส่วนวาระการประชุมในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ประธานการประชุม ในหัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” (Open and Sustainable Trade and Investment) เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเอเปกได้หารือ และแลกเปลี่ยนแนวคิด หรือนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ที่สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าที่เปิดกว้าง และมีการพัฒนา การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) บันทึกภาพและเสียงบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) และความเห็นเรื่องการค้าโลกและระบบการค้าพหุภาคี จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจหารือกันในประเด็นการค้าและการพัฒนาอย่างเปิดกว้างและยั่งยืนของเอเปค เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก ยังคงเป็นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีพลวัตและเชื่อมโยงระหว่างกันมากที่สุดของโลก
         
ขณะเดียวกัน ระหว่างวันที่ 17 พ.ย.2565 จะมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจ เช่น การประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ APEC Digital Prosperity Award เพื่อมอบรางวัลด้านการพัฒนา Mobile Application ที่เป็นเครื่องมือด้านนวัตกรรมในการพัฒนาการเติบโตอย่างครอบคลุมและมั่งคั่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร โดยต่อยอดผ่านการคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันการพัฒนา Mobile Application ของการประกวด APEC App Challenge เมื่อเดือนพ.ค.2565 และระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย.2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะได้หารือสองฝ่ายกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของสมาชิกเอเปคซึ่งอยู่ระหว่างนัดหมาย และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย จากเดิมที่มีความตกลงการค้าเสรี ไทย–ออสเตรเลีย ระหว่างกันอยู่แล้ว
         
สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะร่วมจัดนิทรรศการ BCG Journey เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวความสำเร็จในการขับเคลื่อนโมเดล BCG Economy ของไทย ในสาขาเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยให้เห็นภาพว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเศรษฐกิจเดิม ๆ ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรม และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งนิทรรศการนี้จะอิงแนวคิดหลักของเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ 2.การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และ 4.การจัดการขยะ