ศึกนํ้าตาลไร้ทางออก จี้รัฐดึงชาวไร่-รง.หาข้อยุติ ผวาบราซิลยกระดับฟ้อง WTO

21 ต.ค. 2565 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 21:33 น.
1.1 k

“น้ำตาลขม” โรงงาน-ชาวไร่ จี้ รมต. 3 กระทรวง “อุตสาหกรรม-เกษตรฯ-พาณิชย์” รับหน้าเสื่อ เคลียร์ปมขัดแย้งแบ่งผลประโยชน์กากอ้อย 3 หมื่นล้าน หลังเป็นชนวนทำอุตฯป่วน เปิดหีบอ้อยสะดุด กังวลกฎหมายอ้อยฉบับใหม่ยังไม่ตอบโจทย์บราซิล ผวายกระดับฟ้อง WTO “ทัชมัย-จร.” ยันขั้นตอนอีกยาว

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยที่มีการส่งออกน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องปีละกว่า 2.5 แสนล้านบาท กำลังถูกท้าทาย และเสี่ยงเครื่องสะดุดจาก 2 ประเด็นร้อนคือ 1.ความขัดแย้งและยังไม่มีข้อสรุป หลัง ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่คาดจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ ได้เพิ่ม “กากอ้อย” ในนิยาม “ผลพลอยได้” ที่ต้องนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานด้วย (จากเดิมโรงงานระบุว่าได้ซื้อขาดอ้อยตามน้ำหนักรวมกากอ้อยไปแล้ว ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ในส่วนนี้)

 

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้กรรมการจากฝ่ายโรงงานได้ทยอยลาออกจาก 5 คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ ซึ่งจะส่งผลให้การประกาศเปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2565/66 ที่ปกติจะเปิดหีบในปลายเดือน พ.ย.ถึงต้น ธ.ค. ยังต้องลุ้นว่าจะเปิดหีบได้หรือไม่ จากไม่มีกรรมการตัวแทนจากฝ่ายโรงงานเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่ต้องร่วมให้ความเห็นชอบเปิดหีบอ้อยด้วย และประเด็นที่ 2.การตั้งรับบราซิลที่กำลังเพ่งเล็ง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ จะตอบโจทย์บราซิลที่ยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการอุดหนุนน้ำตาลหรือไม่ เนื่องจากผลศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ยังไม่ต่างจากฉบับเดิมมากนัก และยังมีมาตรการที่ยังคงเป็นการอุดหนุนอยู่

 

ต่อ 2 ประเด็นร้อนดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดสัมมนา The Big Issue : น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ โดยเชิญผู้ส่วนเกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็น

 

  • กมธ.ชี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด

ในประเด็น “กากอ้อย” นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... กล่าวว่า ในรายละเอียดการแบ่งปันผลประโยชน์เรื่องกากอ้อยไม่ได้ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ ในส่วนนี้โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องไปหารือกันในรายละเอียดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

 

ในเรื่องกากอ้อย (ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี) นี้ ในอดีตถือเป็นของเสียที่ไม่มีประโยชน์ แต่ปัจจุบันกากอ้อยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้มหาศาลให้กับกลุ่มโรงงาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาไปมาก สามารถนำไปผลิตเป็นถ้วยชาม เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ชีวมวล) และอื่น ๆ ได้ จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ศึกนํ้าตาลไร้ทางออก จี้รัฐดึงชาวไร่-รง.หาข้อยุติ ผวาบราซิลยกระดับฟ้อง WTO

 

  • จี้ 3 กระทรวงเคลียร์ปัญหา

นายนพพร ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มน้ำตาลไทย กล่าวว่า เดิมโรงงานน้ำตาลซื้ออ้อยจากชาวไร่ตามน้ำหนักเข้าโรงงาน ซึ่งครอบคลุมกากอ้อย กากน้ำตาล (โมลาส) และของเสียที่ติดมากับอ้อยที่ได้ตีมูลค่าและนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 (ชาวไร่อ้อย 70 โรงงาน 30) แล้ว หากจะมาขอแบ่งปันผลประโยชน์จากที่โรงงานได้นำกากอ้อยไปลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีก ในการรับซื้ออ้อยนับจากนี้ไปก็ควรหักน้ำหนักกากอ้อยออกไปก่อน แล้วกากอ้อยมีมูลค่าเท่าไรค่อยนำมาคิดคำนวณในการระบบแบ่งผลประโยชน์จึงจะมีความเป็นธรรมกับโรงงาน

 

“โรงงานซื้ออ้อยมาตามน้ำหนักรวมกากอ้อย และอื่น ๆ แล้ว หากจะมาขอแบ่งผลประโยชน์อีก ต่อไปโรงงานซื้อเฉพาะน้ำอ้อยที่บีบแล้วเพื่อไปผลิตน้ำตาลได้หรือไม่ ส่วนตรงนี้ (กากอ้อย) ก็มานั่งคิดกันว่าเราจะเอาไปทำอะไรต่อ ก็ซื้อขายกันไป แต่ถ้าทำไม่ได้ ขณะที่ร่างกฎหมาย อ้อยฯก็ผ่านทั้งสองสภาและเตรียมประกาศใช้แล้ว ทางโรงงานก็พร้อมเจรจาด้วยเหตุและผล บนพื้นฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

ต่อข้อถามที่ว่าใครควรเป็นคนกลางในการเจรจาครั้งนี้ นายนพพร ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ที่ควรเป็นคนกลางในการเจรจา

 

  • วอนขอส่วนแบ่งชาวไร่เพิ่ม

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กรรมาธิการที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย และประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนและนายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา เป็นคนขอสงวนคำแปรญัตติเกี่ยวกับบทบัญญัติในมาตรา 2/1 เกี่ยวกับผลพลอยได้ โดยให้รวมถึงกากอ้อย กากน้ำตาล และผลพลอยได้อื่นใดที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย ซึ่งปัจจุบันผลพลอยได้เหล่านี้สามารถไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ผลกำไรตรงส่วนนั้นถามว่าใครได้? ซึ่งจากการประเมินในแต่ละปีมูลค่าเพิ่มของผลพลอยได้เหล่านี้คาดไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท อยากให้แบ่งปันรายได้กลับคืนมาสู่ชาวไร่อ้อยบ้าง

 

“ชาวไร่อ้อยถ้าไม่มีโรงงานก็ไม่สามารถนำผลผลิตไปแปรรูปได้ และโรงงานถ้าสร้างมาแล้วไม่มีชาวไร่อ้อยก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นเกษตรกรและโรงงานควรเจรจาในการแบ่งผันผลประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เป็นธรรมโดยนำตัวเลขมากางและพบกันครึ่งทาง เพราะสงครามไม่เคยสงบด้วยอาวุธแต่สงบลงด้วยการเจรจา

 

  • ตั้งรับบราซิลฟ้องพิพากษาไทย

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นร้อน เรื่องความเสี่ยงที่บราซิลอาจร้องให้ WTO ตั้งกรรมการ (Panel) ตัดสินคดีไทยกรณีกล่าวหาไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งไทยให้สัญญาจะแก้ไขตามที่บราซิลเรียกร้อง และได้ดำเนินการแก้ไขมาตามลำดับ และล่าสุดทางบราซิลกำลังจับตามองว่า พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ของไทยจะตอบโจทย์บราซิลหรือไม่

 

ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลใน WTO โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวยอมรับว่า จากการศึกษาข้อกำหนดและกลไกต่าง ๆ ตามร่างพ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่รอประกาศใช้ หากใช้เกณฑ์ทางวิชาการล้วน ๆ แล้วยังไม่ตอบโจทย์ของบราซิล เพราะในหลายมาตรายังอาจถูกตีความได้ว่าภาครัฐยังมีบทบาทในการแทรกแซงกลไกของอุตสาหกรรมนี้อยู่ แต่หากจะเขียนกฎหมายให้เข้าหลักเกณฑ์ WTO อย่างหมดจด อุตสาหกรรมนี้น่าจะไปไม่รอด

 

อย่างไรก็ดี กรณีบราซิลร้อง WTO ผ่านมา 6 ปี แต่ยังไม่ร้องให้ตั้ง Panel หรือผู้พิพากษามาพิจารณาคดีสะท้อนว่าทางบราซิลเองก็เห็นความคืบหน้าการดำเนินการของฝ่ายไทย หากคุยกันได้ข้อสรุปก็ยุติเรื่องได้ แต่หากบราซิลยื่นให้ตั้ง Panel มาตัดสินคดี ก็มีขั้นตอนอีกยาว โดยหากมีคำพิพากษาให้ไทยเป็นฝ่ายผิดก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่หากถึงขั้นตอนการบังคับคดีหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากเราไม่ปฏิบัติตาม ตามขั้นตอนของบราซิลที่จะประกาศตอบโต้ทางการค้า ก็ต้องร้อง WTO ซ้ำว่า ไทยดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ก็มีขั้นตอนเช่นเดียวกับตอนร้องคดี แต่ใช้เวลาสั้นกว่า

 

“ก่อนบราซิลจะใช้มาตรการตอบโต้ ไทยอาจท้วงขอตั้งอนุญาโต ตุลาการขึ้นมาพิจารณาขนาดของการตอบโต้ เพื่อดูว่ารายการต่าง ๆ นั้น เหมาะสมแค่ไหนเพียงใด โดยระหว่างนั้นบราซิลยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรออนุญาโตตุลาการสรุปก่อน จะเห็นว่ายังมีขั้นตอนอีกยาว”

 

  • กรมเจรจาฯพร้อมรับมือ

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากที่บราซิลได้ยื่นฟ้องไทย่อ WTO เรื่องอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลมาตั้งแต่ปี 2559 ถึง ณ ปัจจุบัน ไทยและบราซิลได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันมากว่า 10 ครั้งแล้ว โดยบราซิลก็เข้าใจเหตุผลในสิ่งที่ไทยดำเนินการ ทั้งนี้จะต้องรอดู พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ก่อนว่าจะมีผล กระทบต่อบราซิลในอนาคตหรือไม่

 

“การรับมือกับเรื่องนี้ จากที่ไทยผ่านประสบการณ์มาแล้วหลายคดี ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นตระหนก เพราะเราดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนกรณีที่อุดหนุนอ้อยและน้ำตาลในประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่ดำเนินการไม่ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดว่าไทยมีพันธสัญญากับ WTO ไว้อย่างไร ทั้งนี้ไทยมีสิทธิ์อุดหนุนสินค้าเกษตรในวงเงิน ประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินกรอบที่กำหนด ทั้งนี้คงต้องประเมินอีกครั้งภายหลังจากการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย มีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นจะหารือกับบราซิลต่อไป”

 

  • โรงงานน้ำตาลรับยังกังวล

ขณะที่ นายสมคิด บรรยาย ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ยังมีความกังวลจากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอได้ข้อสรุปว่า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ที่จะประกาศบังคับแทบจะไม่แตกต่างจากเดิมเหมือนเราไปเปิดหน้าชี้ช่องให้ทางบราซิลรู้ว่าไทยยังมีการอุดหนุนและแทรกแซงจากภาครัฐ

 

ตัวอย่างหนึ่งในข้อสรุปจากเอกสารของทีดีอาร์ไอ เรื่องการชะลอฟ้องบราซิลหลังจากฝ่ายไทยรับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขทั้งหมดตามที่บราซิลเรียกร้อง อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง (รวมทั้งผู้นำรัฐบาล / รัฐมนตรี) เข้าใจว่าปัญหานี้ได้ยุติลงแล้ว หรือได้รับการแก้ไขจนกำลังจะลุล่วงไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง การดำเนินการที่ผ่านมาของไทยแทบไม่ได้ทำให้ระบบของเรามีความสอดคล้องกับมติของ WTO มากขึ้นแต่อย่างใด

 

ยิ่งไปกว่านั้นการปรับการดำเนินการในบางด้าน เช่น บทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในปีการผลิต 2560/61-2561/62 ที่มีการเก็บเงินส่วนต่างของราคาในประเทศกับราคาตลาดโลก เพื่อนำมาเกลี่ยให้กับชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทุกโรง อาจมีความเสี่ยงที่จะนำมาตีความว่า เป็นกระบวนการรวมตัวผูกขาด (หรือการฮั้ว) ที่จัดการโดยองค์กรรัฐเสียด้วยซ้ำไป

 

“จากที่บราซิลฟ้องเรา แต่เราดันไปเปิดเผยว่าเรายังมีประเด็นที่ยังไม่จบ เขาอาจจะฟ้องเราเพิ่มได้” นายสมคิด กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3829 วันที่  23 -26 ตุลาคม พ.ศ. 2565