โรงงานน้ำตาลพร้อมเจรจาชาวไร่ แบ่งผลประโยชน์ “กากอ้อย”บนพื้นฐานเป็นธรรม

19 ต.ค. 2565 | 19:21 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 02:40 น.
1.0 k

โรงงานน้ำตาล พ้อไม่มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายอ้อยฯฉบับใหม่ ถูกมัดมือชกนำ “กากอ้อย”แบ่งปันผลประโยชน์ซ้ำซ้อน โวยทำธุรกิจต่อเนื่องขาดทุนไม่เห็นมีใครมาร่วมแบกรับภาระ แต่ยันพร้อมเจรจาชาวไร่แบ่งปันผลประโยชน์ใหม่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม

นายนพพร  ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มน้ำตาลไทย กล่าวในการเสวนา “พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลใหม่ฉุดไทยติดหล่ม? : ทิศทางอนาคต” ในงานสัมมนาออนไลน์ THE BIG ISSUE : น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ใจความสำคัญระบุว่า

 

ทางโรงงานน้ำตาลขอระบายความในใจถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว เหลือเพียงรอประกาศมีผลบังคับใช้ว่า จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายคนที่เกี่ยวข้องมีเพียงชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลเท่านั้น

แต่ในการออกกฎหมายครัั้งนี้ แม้ภายหลังตัวแทนจากโรงงานน้ำตาลจะได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. และเป็นชุดอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ตั้งแต่แรก พอถึงเวลารับฟังความเห็นก็เป็นได้แค่คนนอก ไม่ได้อยู่ในวงคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทางโรงงานพยายามเรียกร้องตรงนี้ตลอดเวลาว่า กฎหมายนี้มาบังคับแค่โรงงานกับชาวไร่ แล้วทำไมไม่ให้โรงงานน้ำตาลเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น

 

“วันนี้กลายเป็นว่าโรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ทั้งที่วันนั้นเราขอเท่าไหร่ก็ไม่ให้เราร่วม พอเราเข้าไปเป็นที่ปรึกษาก็ออกมาเป็นว่า โรงงานเห็นด้วยแล้วทุกอย่าง”

 

โรงงานน้ำตาลพร้อมเจรจาชาวไร่ แบ่งผลประโยชน์ “กากอ้อย”บนพื้นฐานเป็นธรรม

ย้อนไปในอดีตไม่มีกฎหมายฉบับใดมาบังคับเอกชนให้ไปซื้อของจากเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง มีแต่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลที่บังคับโรงงานว่าถ้าจะไปซื้ออ้อยจากชาวไร่ ต้องซื้อแบบนี้ โดยมีฝ่ายราชการเข้ามากำกับดูแล แต่ที่ทำได้อย่างนี้เพราะชาวไร่กับโรงงานยอมกันทั้งสองฝ่าย แล้วถึงไปออกกฎหมาย (พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2537)

 

ทั้งนี้ในส่วนกากอ้อย ที่เพิ่มเติมในนิยาม “ผลพลอยได้”ในร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ ไม่ใช่เพิ่งมามีวันนี้ แต่มีมานานแล้ว แต่วันนี้โรงงานและชาวไร่คุยกันไม่รู้เรื่อง ชาวไร่เลยไปยืมมือ ส.ส.บังคับให้ใส่คำว่า “กากอ้อย”ในนิยามผลพลอยได้เพื่อให้ราชการมาบังคับว่าต้องนำไปเจรจาในการนำไปคำนวณราคาและแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งที่จริงในเรื่องนี้โรงงานและชาวไร่คุยกันมาโดยตลอด แต่ยังไม่ตกผลึก และยังไม่มีทางออกเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี ตามโครงสร้างกฎหมายอ้อยฯ เดิม ถ้าโรงงานยอม ชาวไร่อ้อยยอม ไม่ต้องระบุว่าเป็นอะไร ก็สามารถเอามาคิดคำนวณเป็นค่าอ้อยให้ชาวไร่ได้เลย เพียงแต่ว่าทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันให้เข้าใจก่อน ซึ่งตาม พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเดิม การแบ่งปันผลประโยชน์มีแค่เรื่องน้ำตาลอย่างเดียวที่นำมาคำนวณราคาให้ชาวไร่อ้อย กากน้ำตาล(โมลาส)ก็ไม่มี

 

โรงงานน้ำตาลพร้อมเจรจาชาวไร่ แบ่งผลประโยชน์ “กากอ้อย”บนพื้นฐานเป็นธรรม

 

ในเรื่องกากอ้อยนี้ หากคิดหยาบ ๆ อ้อยเข้าโรงงาน 100 กิโลกรัม(กก.)ในจำนวนนี้สมมุติได้น้ำตาล 80 กก.เหลือเป็นโมลาสหรือกากอ้อย อย่างละ 10 กก. แต่เป็นไปไม่ได้ที่ของเข้าไป 100 กก.จะออกมา 150 กก. ของเข้าไป 100 กก. ก็จะออกมา 100 กก.ตามน้ำหนัก ที่ผ่านมาน้ำตาลถือเป็นโปรดักส์อย่างเดียวที่นำมาคิดคำนวณราคาแบ่งปันผลประโยชน์ ส่วนกากน้ำตาล (โมลาส)กับกากอ้อย ขี้หม้อกรองของเสียทั้งหมดที่ติดมากับอ้อย ถือเป็นของเสียที่โรงงานซื้อรวมมาแล้วตามน้ำหนักอ้อยเข้าโรงงาน  หากตีมูลค่ากากอ้อยทั้งระบบในปัจจุบันสมมุติที่ 2 หมื่นล้านบาทถือเป็นของที่ซื้อมาแล้วตอนชั่งน้ำหนักเข้าโรงงาน

 

“รองคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯระบุว่า ต่อไปผลพลอยได้ข้างต้นต้องเอามาแบ่งปันผลประโยชน์อีก ซึ่งก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ขอถามว่า ณ วันแรกที่โรงงานลงทุนเป็นร้อย เป็นพันล้านเพื่อให้ได้น้ำตาลออกมา และให้ได้ของเสียคือ กากน้ำตาล กากอ้อย ณ วันนั้นผมต้องลงทุนในการกำจัด ต้องสร้างที่เก็บ จ่ายเงินเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม แต่พอวันหนึ่งกากน้ำตาลสามารถพัฒนานำไปทำเหล้า ซีอิ๊ว ผงชูรส หรือไปทำเอทานอลที่มีมูลค่าขึ้นมา เพื่อให้เป็นโปรดักส์ และต้องลงทุนตรงนั้นอีกเป็นร้อยเป็นพันล้าน ถามว่าชาวไรที่ขายอ้อยมาตั้งแต่วันแรกลงทุนตรงไหนเพิ่ม”

 

โรงงานน้ำตาลพร้อมเจรจาชาวไร่ แบ่งผลประโยชน์ “กากอ้อย”บนพื้นฐานเป็นธรรม

 

ที่ผ่านมาในกากอ้อยนี้ ทางโรงงานก็ได้พยายามจะพูดคุยกับชาวไร่ ซึ่งในส่วนของชาวไร่ในข้อเท็จจริงก็มีชาวไร่ที่จะเอาและไม่เอาเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากกากอ้อย  ทั้งนี้หากชาวไร่อ้อยอยากจะได้ราคาหรือรายได้ที่ดีขึ้นก็มีวิธีอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อยากให้เห็นใจโรงงานที่ต้องใช้เงินในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล เช่น ปาติเคิลบอร์ด ที่ต้องลงทุนเป็นพันล้านบาท แต่วันนี้โรงงานปาติเคิลบอร์ดปิดตัวไปแล้วจากธุรกิจไปต่อไม่ได้ แต่ชาวไร่อ้อยก็ไม่ได้มารับภาระด้วยซักบาท

 

“แต่วันนี้พอผมไปลงทุนแล้วคุณบอกว่าต้องมาแบ่ง มาแบ่งก็ได้ แต่ก่อนที่เอามาคิดคำนวณในการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ให้คุณหักน้ำหนัก(กากอ้อย)ออกก่อนเพราะผมซื้อมาแล้ว ให้คุณหักส่วนที่ผมซื้อออกไปก่อน แล้วถ้ามันมีมูลค่าเหลือจะเอามาแบ่งก็เอามาแบ่ง ซึ่ง สส.หรือสภาที่ผ่านร่างกฎหมายนี้มา ผมบอกเลยว่า ผ่านมาเพื่อให้ธุรกิจนี้ล่มสลาย เพราะว่าทะเลาะกันเละเทะ”

 

สำหรับเรื่องกากอ้อยนี้ทางโรงงานน้ำตาลยอมรับว่ามีความไม่สบายใจ เพราะเดิมในการตรากฎหมายอ้อยฯฉบับเดิม ในเรื่องต่าง ๆ ทางโรงงาน และชาวไร่อ้อยจะพูดคุยกันก่อน แต่เวลานี้ได้ตรากฎหมายใหม่แล้วเหมือนถูกเอาปืนมาจ่อหลังให้ไปเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ที่มองว่ามีความซ้ำซ้อน

 

ขณะที่เวลานี้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาไปแล้ว และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเษกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ (กากน้ำตาล)ทางโรงงานพร้อมเจรจาว่าจะแบ่งปันกันอย่างไร โดยคุยกันแบบพี่น้อง อาจมี สส.นั่งตรงกลาง และต้องฟังความด้วยเหตุและผล บนพื้นฐานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย