เครื่องปรับอากาศไทยแกร่ง รั้งเบอร์ 2 โลก รองแค่จีน จี้รัฐหนุนหนีเวียดนาม

13 ต.ค. 2565 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2565 | 16:59 น.
3.9 k

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับต้น ๆ ของโลก และปัจจุบันไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ในปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมูลค่า 203,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปี 2563

เครื่องปรับอากาศไทยแกร่ง รั้งเบอร์ 2 โลก รองแค่จีน จี้รัฐหนุนหนีเวียดนาม

 

ขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าส่งออก 164,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 21% ฉายภาพให้เห็นว่าแม้ฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศในไทยยังต้องเผชิญปัจจัยรุมเร้ามากมายแต่อุตสาหกรรมก็ยังยืนหยัดอยู่ได้

 

 ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นางสุภาณี จันทศาศวัต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงโอกาสและทิศทางการเติบโต ปัจจัยบวก-ปัจจัยลบ รวมถึงภาพรวมการแข่งขันที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 

  • ผลิต-ส่งออกขยายตัว

นางสุภาณี กล่าวว่า ตลาดส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทยมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และความต้องการสินค้าเริ่มฟื้นกลับคืนมา เช่น ตลาดเวียดนาม และอินโดนีเซีย ในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ปี 2565 คาดการผลิตเครื่องปรับอากาศของไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนอีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนไมโครชิพ ที่ยังคงเป็นอุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไข

สุภาณี  จันทศาศวัต

 

อย่างไรก็ดี โอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทยในตลาดโลกยังมีอีกมาก ทั้งจากฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น และยาวนานขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตหนาวที่เป็นลูกค้าหลักของไทย การขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศเขตร้อน เช่น กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา และอาเซียนอื่น ๆ และเอเชียใต้ รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่อาจส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องปรับอากาศไทยไปยังสหรัฐฯแทนจีนได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีให้มีความเป็นอัจฉริยะ ประหยัดพลังงาน และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นอีกข้อได้เปรียบเมื่อเทียบในเรื่องของคุณภาพ และราคากับคู่แข่งขัน

 

โดยตลาดส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 5 อันดับแรกของไทย ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา 32,098 ล้านบาท สัดส่วน 20% ของมูลค่าการส่งออก, ออสเตรเลีย 12,839 ล้านบาท สัดส่วน 8%, เวียดนาม 12,331 ล้านบาท สัดส่วน 7.5%, ไต้หวัน 8,271 ล้านบาท สัดส่วน 5% และญี่ปุ่น 7,619 ล้านบาท สัดส่วน 4.6%

 

สำหรับคู่แข่งขันส่งออกของไทยยังคงเป็นประเทศจีน ส่วนคู่แข่งรายใหม่ที่น่าจับตาคือ เวียดนาม ที่ได้เปรียบทางด้านค่าแรงที่ถูกกว่า และมีแรงงานจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศจากต่างชาติ เช่น จากญี่ปุ่น เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

 

เครื่องปรับอากาศไทยแกร่ง รั้งเบอร์ 2 โลก รองแค่จีน จี้รัฐหนุนหนีเวียดนาม

 

  • ปัจจัยบวก-ลบปี 2566

สำหรับปี 2566 สมาชิกของกลุ่มฯ มองปัจจัยลบที่ยังต้องจับตามี 4 เรื่องหลักคือ 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน และกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง 2.อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ค่าเงินบาทและสกุลเงินในหลายประเทศที่อ่อนค่า ยังคงมีความต่อเนื่องในปีหน้า 3.ต้นทุนวัตถุดิบหลักมีแนวโน้มสูงขึ้น และความต่อเนื่องจากการขาดแคลนไมโครชิพ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอิเล็กทรอนิคส์ และ 4.มาตรการการกีดกันทางการค้าทางอ้อม เช่น มาตรการทางภาษี การสนับ สนุนการลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศตนเองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก

 

ส่วนปัจจัยบวกจะมีแรงสนับสนุนจาก 2 เรื่องหลักคือ 1.สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความร้อนในแถบประเทศยุโรปที่สูงขึ้นเป็นโอกาสในการกระจายสินค้า 2.การลงทุนภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ผลิตจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และจีน ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่หลากหลายเทคโนโลยี ส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานขยายวงกว้าง เป็นโอกาสในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์

 

“ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ของโลก เข้ามาลงทุนในไทยมากกว่าหลายประเทศ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสนับสนุนมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อควบคุมคุณภาพและการผลิต รวมถึงระบบโลจิสติกส์ที่ตอบ สนองต่อการขยายตัวของอุตสาห กรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเหนือกว่าคู่แข่งในอาเซียน”

 

  • ไม่หวั่นโควิดคำสั่งซื้อมีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติโควิด  ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ส่งผลให้ยอดขายในประเทศลดลง  แต่สำหรับการส่งออกยังคงมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย  

 

“2 ปีมานี้กลุ่มเครื่องปรับอากาศมีการปรับตัว โดยเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปรับอากาศ และการส่งเสริมในการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีระบบปรับอากาศ รวมถึงการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับจากประเทศทั่วโลก   และร่วมมือกับภาครัฐ ในการส่งเสริมการส่งออก ในการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”

 

  • มองบทบาทการแข่งขัน

นางสุภาณี กล่าวถึง ภาพรวมการแข่งขันว่ามาตรการทางภาษีทำให้ความแตกต่างระหว่างการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ เปรียบเทียบกับการผลิตในประเทศที่สามารถลดต้นทุนทางด้านSupply chain รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกของไทย ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น   ส่วนการควบคุมการลักลอบการนำเข้าเครื่องปรับอากาศโดยไม่เสียภาษี อยู่ในขั้นตอนการควบคุมของศุลกากรและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม   อย่างไรก็ตามไทยยังคงต้องพึ่งพาวัตถุดิบต้นน้ำ และชิ้นส่วนหลักจากต่างประเทศ มีโอกาสเสียเปรียบในด้านการแข่งขันบ้าง

 

ดังนั้นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนคือ การสนับสนุนเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนหลัก เพื่อสร้างการแข่งขันในตลาดโลก จากปัญหาโควิดและความผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน การพึ่งพาตนเองภายในประเทศ จะเป็นข้อได้เปรียบภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศอย่างยั่งยืน

 

สำหรับมุมมองด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลกปี 2566 นั้น มองว่าผลกระทบจากสงครามการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยนเงินของโลก คาดว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู 1-2 ปี อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกในแต่ละภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาสินค้าที่เหมาะสมกับตลาด จากปัญหาโควิด และการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต