อสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้าง-ส่งออก คาดการณ์เศรษฐกิจQ4 ขยับตัวดีขึ้น

01 ต.ค. 2565 | 16:22 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2565 | 23:39 น.

ส่องเศรษฐกิจไตรมาส4 ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ส่งออกขยับตัวดีขึ้นแต่ เงินเฟ้อที่ยังคงสูง ความผันผวนของราคาพลังงาน และค่าเงินบาทที่อ่อนลงยังเป็นปัจจัยลบฉุดเศรษฐกิจไทย

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) (SMART) ผู้ผลิตและจำหน่ายอิฐมวลเบาด้วยระบบอบไอน้ำภายใต้ความดันสูงเพื่อใช้ในงานก่อสร้างและงานกั้นผนังอาคาร เปิดกับฐานเศรษฐกิจว่า  คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 4 ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยับตัวดีขึ้น โดยมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของดีเวลอปเปอร์เริ่มคึกคักขึ้นตามลำดับหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) (SMART)

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์คาดการณ์ว่าช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยเริ่มขยับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการเปิดตัวโครงการใหม่ ปี 2565 เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ทั้งโครงการบ้านเดี่ยวแนวราบและแนวสูง

ปัจจัยบวกที่มีต่อธุรกิจคือ การยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิดจากนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน อีกทั้งประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศและอนุญาติให้ประชนชนเดินทางออกนอกประเทศ จะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์ให้คึกคัก อีกทั้งโครงการก่อสร้างสนามบินและรถไฟฟความเร็มสูง และการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ทำให้มีโครงการที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

ขณะที่ปัจจัยลบที่คาดว่าจะเข้ามากระทบอุตสาหกรรมคือ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูง รวมทั้งความผันผวนของราคาพลังงาน และค่าเงินบาทที่อ่อนลง ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น สำหรับภาคการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตมีราคาสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

“ที่ผ่านมา SMART ได้ปรับกลยุทธ์ในการรับมือคือ เพิ่มโมเดลและปรับรูปแบบในการกระบวนการผลิตที่จะเพิ่มประสิทธิภาพที่มาพร้อมกับคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องจักรในกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น   รวมทั้งแสวงหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทำให้ได้กำไรเพิ่มสูงขึ้น  สิ่งที่อยากเสนอแนะให้ภาครัฐเดินหน้าคือ  การควบคุมพลังงานทั้งในด้านภาคการผลิต ด้านการขนส่งไม่ให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

 

เพราะต้นทุนพลังงานเป็นปัจจัยหลักในด้านการผลิต และการขนส่ง  กระตุ้นและช่วยส่งเสริมมาตรการในภาคอสังหาริมทรัพย์ ลดภาระในด้านสินเชื่อสำหรับผู้ซื้อบ้านหรือคอนโด  ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกระจายไม่กระจุกเฉพาะพื้นที่ เพื่อกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและมีแผนการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวแบบต่อเนื่องมีแผนสำรอง มีแผนความเสี่ยงต่างๆที่ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพและเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่กราฟขึ้นๆลงๆ  

 

เชื่อว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่ยังมีศักยภาพในด้านต่างๆอยู่ แต่ความไม่แน่นอนของนโยบายและมาตรการต่างๆที่ไม่ชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง  สิ่งที่รัฐจะช่วยภาคธุรกิจได้คือ พิจารณาและอำนวยความสะดวกที่ทำให้เกิดการผลักดันภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน แบบเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวได้แบบไหน ไม่ได้มองถึงแค่ผลประโยชน์ของตนเอง แต่มองเป็นผลประโยชน์ของระดับชาติด้วยกัน อันนี้คือสิ่งที่ภาครัฐต้องศึกษามากขึ้น ผลักดันจริงจัง”

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL

ขณะที่นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า  ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งโครงการลงทุนต่อเนื่องของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ (Megaprojects) ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC รวมทั้งโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว ในขณะที่ความเสี่ยงด้านต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ผันผวน และราคาวัสดุก่อสร้างที่สำคัญได้แก่ เหล็ก คอนกรีตและปูนซีเมนต์ จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการติดตามและทบทวน แผนงานและความคืบหน้างานโครงการที่สำคัญอย่างใกล้ชิด รวมถึงการใช้เทคโนโลยี และข้อมูลในการบริหารงานและพัฒนาระบบและบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

“ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง งานภาครัฐยังคงต้องเร่งเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน หากภาครัฐสามารถเร่งเบิกจ่ายค่า K (ESCALATION FACTOR) ที่ยังค้างและเร่งการตรวจรับงานเพื่อเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการก่อสร้าง ก็จะช่วยให้สามารถบริหารสภาพคล่องให้ดียิ่งขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ รวมทั้งการกำหนดราคากลางที่สะท้อนต้นทุนจริงของธุรกิจก่อสร้าง ก็จะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวม”

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE

ทางด้านนายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในช่วงไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งสถานการณ์ด้านค่าระวางการขนส่งมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลให้ปริมาณความต้องการขนส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าภาคการเกษตร และ สินค้าประเภทอาหาร

 

WICE ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร จึงได้รับอานิสงส์โดยตรงจากปริมาณการส่งออกสินค้าของประเทศที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ต่างๆที่มีแนวโน้มคลี่คลายในช่วงก่อน อาทิ ด่านชายแดนขนส่งสินค้าประเทศจีนที่มีการเปิดให้บริการตามปกติ และ สายการบินที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการทำให้จำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยบวกให้กับบริษัท

 

แต่ด้านตลาดต่างประเทศที่มีความผันผวนทั้งในกลุ่มประเทศยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในภาวะอยู่ในภาวะชะลอตัวในบางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ จากการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อีกทั้ง ปัจจัยด้านต้นทุนการขนส่งที่อาจมีการปรับตัวจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการประเมินสถานการณ์ พร้อมร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรและบริษัทในเครือ รวมถึงการเตรียมแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติขนส่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะเข้ามาเข้ามาดูแลในเรื่องของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะค่าเงินที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ด้านต้นทุนการขนส่ง และ จะส่งผลกระทบเป็นวงจรต่อภาคส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อีกด้วย