บาทอ่อนทำเศรษฐกิจไทยเสียศูนย์ นำเข้าแซงส่งออก ขาดดุลการค้าพุ่ง 5.8แสนล้าน

01 ต.ค. 2565 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2565 | 18:06 น.
713

บาทอ่อนรอบ 16 ปี ทำ ศก.ไทยเสียศูนย์ 8 เดือนนำเข้าใช้บาทเพิ่ม ทำขาดดุลการค้ากว่า 5.8 แสนล้าน ชี้ส่งออก-ท่องเที่ยวได้อานิสงส์ แต่ยังไม่คุ้มเสีย ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ จ่อขยับ จับตาปลายปีทะลุ 40 บาทต่อดอลลาร์ ผวาค่าไฟพุ่ง 5 บาท ททท.-บิ๊กซี-โลตัสมองบวกช่วยฟื้นท่องเที่ยว ค้าปลีก

เงินบาทที่ทำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 16 ปี แตะที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เวลานี้ มีผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี (28 ก.ย. 2565) โดยให้เหตุผลเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อรักษาช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและไทยไม่ให้ห่างกันมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลออกและจะทำให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่าลง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.รอบล่าสุด เพื่อเบรกการไหลลงของการอ่อนค่าของเงินบาทดูแล้วไม่น่าเพียงพอ เพราะเวลานี้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.00-3.25% ส่วนไทยอยู่ที่ 1 % ยังห่างกันมาก หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปลายปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ย เพิ่มเป็นกว่า 4% หากไทยไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก หรือปรับขึ้นแต่ไม่ปรับแรง เงินบาทอาจแตะ39-40 บาทต่อดอลลาร์ในปลายปีนี้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

  • จับตาแตะ 40 บาทต่อดอลล์

 “การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ที่ไม่กล้าขึ้นมาก ส่วนหนึ่งอาจเกรงไปสร้างภาระต้นทุนทางการเงินให้กับผู้กู้เงิน ถ้าไม่ทำอะไรอีกอาจทำให้ค่าเงินบาทของไทยไหลไปที่  39 บาทต่อดอลลาร์ และถ้าเอาไม่อยู่ และสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยอีก แล้วไทยปรับขึ้นอีกเล็กน้อยอาจไม่พอ สถานีต่อไปบาทอาจไปแตะที่ 40 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้”

 

อย่างไรก็ดีจากบาทอ่อนค่าผู้ได้รับอานิสงส์คือผู้ส่งออก จากทำให้มีรายได้และกำไรในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกในรูปดอลลาร์ขยายตัวแล้ว 11% (ในรูปเงินบาทขยายตัว 22%) และภาคการท่องเที่ยว (ณ ก.ย.เข้ามาแล้ว 5.5 ล้านคน) แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ภาคการนำเข้า ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ เชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ราคาสินค้า ภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

 

บาทอ่อนทำเศรษฐกิจไทยเสียศูนย์ นำเข้าแซงส่งออก ขาดดุลการค้าพุ่ง 5.8แสนล้าน

 

  • ทำขาดดุลการค้า 5.8 แสนล้าน

อีกข้อมูลสำคัญ จากการส่งออกในเดือนสิงหาคมล่าสุด ที่มีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.5% นำเข้า 27,848.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.2% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าเฉพาะสิงหาคมเดือนเดียวถึง 4,215.4 ล้านดอลลาร์ (1.65 แสนล้านบาท) และภาพรวม 8 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้า 14,131.7 ล้านดอลลาร์ (หรือกว่า 5.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ไทยขาดดุล 2.95 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ปัจจัยหลักส่วนหนึ่งจากบาทอ่อนค่าทำให้ต้องใช้เงินบาทในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น

 

 “สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทที่อ่อนค่าเวลานี้ เป็นการอ่อนค่าที่มากเกินไป เพราะแม้จะมีผลดีกับภาคส่งออกและท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ทำให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทยเสียสมดุล จากเราได้ผลกำไรหรือผลดีจากการส่งออกและท่องเที่ยวน้อยกว่าการที่เราต้องนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบที่ทำให้เราขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น”

 

  • เร่งท่องเที่ยวช่วยบาทเสถียร

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า การที่จะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่านี้ ตัวช่วยหนึ่งคือ ภาคการท่องเที่ยวที่หลังจากไทยเปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ย 1 ล้านคนต่อเดือน หากในเดือนที่เหลือของปีนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามามากกว่า 2 ล้านคนต่อเดือนได้ จะทำให้ความต้องการแลกเงินเป็นสกุลบาทเพื่อจับจ่ายมากขึ้น จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ระดับหนึ่ง

 

นอกจากนี้ต้องดูแลค่าไฟฟ้า เพราะเวลานี้ค่าไฟแพงอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เทียบกับเวียดนามตรึงไว้ที่ 2.88 บาทต่อหน่วยไปจนถึงสิ้นปี ทำให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันดึงลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งอยากให้รัฐบาลกำกับดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ เพราะหากดูจากทิศทางแนวโน้มราคาพลังงานโลกที่จะปรับขึ้นอีกรอบในปลายปีนี้จากที่เข้าสู่ฤดูหนาว ยุโรปขาดแคลนก๊าซและน้ำมัน และจีนเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ความต้องการพลังงานเพิ่ม โอกาสค่าไฟฟ้ารอบหน้าจะปรับเพิ่มเป็น  5 บาทต่อหน่วยมีสูง

 

  • ททท.ลุ้นท่องเที่ยวโต

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว ในแง่ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย จะใช้จ่ายเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม หรือพำนักอยู่ในไทยนานขึ้น จากเมื่อก่อน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกเป็นเงินบาทไทยได้ 30 บาท แต่ตอนนี้มาไทยสามารถแลกเงินบาทได้กว่า 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงว่านักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีในระยะสั้น ส่วนในระยะยาว หากเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ อาจมีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การซื้อตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทางจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

ยุทธศักดิ์  สุภสร

 

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า บาทอ่อนค่าส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาใช้จ่ายเงินได้มากกว่าเดิม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจะได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ยังคงต้องประเมินสถานการณ์ก่อน เพราะทั้งไทยและประเทศต้นทางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเริ่มเปิดประเทศ และภาพรวมเศรษฐกิจภายในยังชะลอตัวอยู่

 

  • บิ๊กซี-โลตัสเฮค้าปลีกฟื้น

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนไป ปัจจุบันกลไกหลักคือการท่องเที่ยว ดังนั้นในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และจากการที่รัฐบาลได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน น่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้โรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับมา รวมถึงบิ๊กซี ราชดำริเอง ตอนนี้ทราฟิกกลับมา 90% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว

 

ด้าน นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจส่งออก นำเข้า และคนที่กู้เงินดอลลาร์คงจะมีปัญหามาก ส่วนโลตัสเป็นรีเทล (ค้าปลีก)มีสินค้านำเข้ารายการจากต่างประเทศผ่านตัวแทน ไม่ได้นำเข้าโดยตรง โดยตัวแทนเหล่านี้จะมีมาตรการในการบริหารจัดการอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการให้สินค้ามีราคาสูงโดดกว่าคนอื่น ซึ่งบริษัทได้ทำงานร่วมกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิด

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3823 วันที่ 2 – 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565