กินดื่ม ‘กัญชา-กัญชง-กระท่อม-แอลกอฮอล์’ บริจาคเลือดได้หรือไม่

14 ก.ค. 2565 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 20:00 น.
1.8 k

ไขข้อสงสัย กินดื่ม ‘กัญชา-แอลกอฮอล์’ บริจาคเลือดได้หรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้ป่วยด้วยกัน

หลังการปลดล็อก ‘กัญชา’, ‘กัญชง’ และ ‘กระท่อม’  ออกจากยาเสพติดเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง และกระท่อมเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

 

ทั้งนี้ สภากาชาดไทย ออกคำแนะนำผู้ใช้สารเสพติดหรือสารควบคุม ที่ต้องการบริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ทำตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้ป่วยด้วยกัน

1.) สารเสพติดและสารควบคุม

สารควบคุมที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น กัญชา กัญชง กระท่อม (ใช้เป็นยาหรือบริโภคเป็นอาหาร เครื่องดื่ม)

กรณีใช้เป็นประจำ คือ ตั้งแต่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป : ขอให้งดใช้ 7 วัน ก่อนบริจาคโลหิต

กรณีใช้เป็นครั้งคราว : ขอให้งดใช้ 24 ชั่วโมง ก่อนบริจาคโลหิต

ทั้งนี้ ในวันที่บริจาคโลหิตต้องไม่มีอาการ มึนงง และ สับสน

สารเสพติดชนิดกิน ต้องเลิกเสพแล้ว เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และต้องมั่นใจว่าไม่กลับไปเสพอีก จึงจะสามารถบริจาคโลหิตได้

สารเสพติดชนิดฉีด งดบริจาคโลหิตถาวร แม้จะเลิกฉีดแล้วก็ตาม เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางโลหิตและมีผลต่อจิตประสาท

กินดื่ม ‘กัญชา-กัญชง-กระท่อม-แอลกอฮอล์’ บริจาคเลือดได้หรือไม่

2.) การดื่มแอลกอฮอล์

ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ 7 วัน ก่อนบริจาคโลหิต เนื่องจากอาจมีการทำงานของตับบกพร่อง ร่างกายไม่สามารถขจัดแอลกอฮอล์ออกจากโลหิตได้ดี และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

 

ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราว ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง ก่อนและหลังบริจาคโลหิต เนื่องจากมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตร่างกายขาดน้ำ อีกทั้งฟื้นตัว หลังการบริจาคช้ากว่าปกติ