แถลงการณ์ 25 องค์กรมุสลิม เรียกร้องรัฐนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดประเภท 5

08 ก.ค. 2565 | 17:13 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 00:16 น.
1.9 k

ภาคีเครือข่ายองค์กรมุสลิม 25 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลให้นำกัญชาเข้าเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม โดยให้ใช้สำหรับกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น

ผลกระทบเป็นวงกว้างสำหรับการเปิดกัญชาเสรี หลังพบทั้งการขาย การเสพ ในกลุ่มบุคคลทั่วไป ล่าสุด ภาคีเครือข่ายองค์กรมุสลิม 25 องค์กร ในนาม “องค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม” ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลให้นำกัญชาเข้าเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม โดยให้ใช้สำหรับกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น

 

โดยแถลงการณ์ มีใจความว่า

 

“องค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม”

เรื่อง ชี้แจงผลกระทบและคัดค้านกฎหมายกัญชาเสรี

สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ประกาศยกเว้นกัญชาจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยการไม่ระบุว่า พืชกัญชา รวมถึงส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ช่อดอก เป็นสารเสพติดให้โทษ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

 

ทำให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทย รวมถึงเด็กและเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติสามารถเข้าถึงกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชาซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อประกอบอาหารและนันทนาการ

 

ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเห็นทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า "กัญชา" เป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์หลายชนิดโดยเฉพาะสาร THC ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดโทษรุนแรงได้ ผู้ใช้กัญชาด้วยวิธีการใดๆ มีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาที่มีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะต่อหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก และเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี

 

เพราะมีผลต่อการพัฒนาการของสมองทั้งในแม่และเด็ก และอาจส่งผลต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท  เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ

 

รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  รวมถึงผู้ขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูงเช่นเดียวกับสุรา  และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจิตประสาท โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด เพราะอาจมีผลต่อยาและการรักษาที่ได้รับอยู่

 

ดังนั้น “องค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม”จึงมีแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้

 

1. พืชกัญชามีทั้งประโยชน์และโทษมหันต์ องค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม จึงไม่คัดค้านการนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ 

 

2. ขอสนับสนุนการนำทุนทางทรัพยากรมาใช้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและอนาคตของชาติ 

 

3. ขอคัดค้านกฎหมายกัญชาเสรี และการยกเว้นกัญชาจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเล็งเห็นผลกระทบที่อาจสร้างความเสียหายต่อสังคม ทั้งในด้านความสงบสุขของสถาบันครอบครัวและสังคม ตลอดจนด้านศีลธรรมจรรยา ที่มีมากกว่าผลประโยชน์ที่คาดหวังว่าจะได้รับจากการเปิดเสรี ดังนั้นจึงขอ “เรียกร้องรัฐบาลให้นำกัญชาเข้าเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามเดิม โดยให้ใช้สำหรับกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น”

 

4. ขอเรียกร้องให้องค์กรทางสุขภาพ องค์กรพัฒนาสังคม องค์กรเกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว  ตลอดจนมัสยิดและองค์กรศาสนาอิสลาม  สมาคมอิสลาม สถาบันการศึกษาอิสลาม ทั้งสถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันอุดมศึกษาอิสลาม ร่วมมือกันรณรงค์ให้ความรู้ความตระหนักให้แก่นักเรียน นักศึกษา สถาบันครอบครัวและสังคมทั่วไป

 

เพื่อให้งดเว้นการสนับสนุนและการใช้กัญชาทุกรูปแบบ ยกเว้นการใช้ทางการแพทย์ ตามคำวินิจฉัย(ฟัตวา) ที่ 1/2563 ของจุฬาราชมนตรี ที่ระบุว่าการใช้กัญชง กัญชาเพื่อสันทนาการและความสราญใจ เช่น การกิน การดื่ม สูบ เคี้ยว ดม หรือวิธีใดก็ตาม ถือเป็นฮารอม (สิ่งต้องห้าม) ฐานเดียวกับการดื่มสุรา ยกเว้นการนำมาใช้ในทางการแพทย์หากมีความจำเป็น  รวมถึงออกมาชี้แจงผลเสียหรือผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรี ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการป้องกันแก้ไข

 

5. เรียกร้อง ให้พรรคการเมือง และนักการเมิอง คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนและเยาวชนอนาคตของชาติมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้จากพืชกัญชา

 

6. ขอให้ทุกองค์กรทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสถานศึกษาและศาสนสถานประกาศเขตปลอดกัญชา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี

8 กรกฎาคม2565

องค์กรเครือข่ายคัดค้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ขัดกับหลักศีลธรรม.

 

สำหรับองค์กรเครือข่ายฯที่เข้าร่วม ประกอบด้วย

1.ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

2.องค์กร “เพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน” (เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับบริจาคช่วยผู้ยากไร้ ตกระกำลำบาก ของมุสลิม)

3.มัสยิดบ้านเหนือ

4.มูลนิธิซากาตและสาธารณกุศล

5.สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (ส.น.ท.)

6.สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.)

7.สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข

8.สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

9. ศูนย์ดะวะห์ตับลีช

10.กองทุนสวัสดิการบัยตุลมาล สตูล

11.กลุ่มวัยรุ่น เจ๊ะบิลัง

12.โรงเรียนทรัพรายีวิทยา

13.ผู้ช่วย ส.ส. ซูการ์โน มะทา ยะลา เขต 2

14.มัสยิดสามช่องใต้ จ.พังงา

15.โรงเรียนประทิปศาสตร์ บ้านตาล

16.สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี

17.สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

18.มูลนิธิเพื่อการแพทย์และสาธารณกุศล

19.สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้

20.มูลนิธิคนช่วยฅน

21.มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามเพื่อการพัฒนายะลา

22.มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ยะลา

23.มูลนิธิเพื่อภราดรภาพ

24.สมาคมนักธุรกิจมุสลิมปัตตานี

25.สุนทร วงค์หมัดทอง หัวหน้าฝ่ายวิชาการ และกองทุนชะกาต มัสยิดมำบัง มัสยิดกลาง จ.สตูล

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เพจ จะนะเมืองน่าอยู่