กทม. เบรกดันถนนข้าวสาร “ฮับกัญชา” เหตุใกล้วัด-โรงเรียน

05 ก.ค. 2565 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 18:23 น.

รองผู้ว่า กทม. ชี้ผู้ประกอบการเสนอแผนผลักดันให้ถนนข้าวสาร เป็น “ฮับกัญชา” ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตั้งอยู่ใกล้วัด- โรงเรียน กำชับทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

หลังจากที่โลกโซเชียลเผยแพร่ภาพผู้ค้าตั้งแผงขายกัญชาบนทางเท้าจำนวน  4-5 ร้านอย่างโจ่งแจ้งบนถนนข้าวสาร หน้าสถานบันเทิง โดยขายตามออเดอร์ ทั้งกัญชาแบบซอยและกัญชามวนในรูปบุหรี่ ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายหาบแร่-แผงลอย เพราะต้องขายในอาคาร

 

ต่อมานายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร  กล่าวว่า ผู้ค้ากัญชาบนทางเท้าในคลิปมาจากภายนอก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบแล้ว เพราะผิดกฎหมายหาบเร่-แผงลอย ต้องขายในอาคารเท่านั้น พร้อมเสนอเปิด "ฮับกัญชา" ที่ถนนข้าวสารเป็นที่แรกในประเทศไทย โดยมองว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว เป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไข เช่น กำหนดพื้นที่ใช้กัญชานั้น

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ถึงเรื่องผลกระทบจากกฎหมายกัญชาเสรี และการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากกัญชา ว่า กรณีผู้ประกอบการถนนข้าวสารเสนอให้ถนนข้าวสาร เป็นศูนย์กลางกัญชา (ฮับกัญชา) นั้น แนวโน้มไม่น่าจะเป็นไปได้

กทม. เบรกดันถนนข้าวสาร “ฮับกัญชา” เหตุใกล้วัด-โรงเรียน

เนื่องจากถนนข้าวสารตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียน และวัด จึงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ อีกทั้งการที่จะขายกัญชาเสรีหรือฮับกัญชา จะต้องควบคุมปริมาณเพื่อไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะต้องมีจัดหาเครื่องวัดด้วย

 

“ได้กำชับให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติให้ถูกกฎหมาย ส่วน กทม. จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เป็นหลัก”

 

ส่วนกรณีในที่สาธารณะ ผู้ค้าขายหาบเร่แผงลอย จะต้องลงทะเบียนกับสำนักงานเขต และต้องขายตามประเภทที่ขึ้นเบียนไว้ ไม่สามารถเปลี่ยนประเภทสินค้าได้ หากจะขายอย่างอื่นต้องไปขออนุญาตกับคณะกรรมการของเขตก่อน

 

“แม้ปัจจุบันพบว่ามีการขายกัญชา กัญชง หรือใบกระท่อม รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ใบกระท่อม จึงถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด เพราะไม่สามารถขายได้ในที่สาธารณะ”

 

ดังนั้น จึงสั่งการเทศกิจทั้ง 50 เขตลงไปตรวจตราดู โดยเฉพาะเน้นย้ำรอบบริเวณโรงเรียนต้องไม่มีการขาย เพราะเป็นนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนและเยาวชนไม่ให้เกี่ยวข้อง