มรสุมกัญชาเสรี “หมอ” หัก “อนุทิน” โอกาสที่ต้องควบคุม

06 ก.ค. 2565 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 19:52 น.

มรสุม "กัญชาเสรี" โอกาสที่ต้องควบคุม หลังประเทศไทยประกาศปลดล็อกอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีความห่วงใยเเละคำเตือนจากหลายภาคส่วน ขณะที่ “หมอ” ไม่หนุนให้ใช้เพื่อการสันทนาการ

นับตั้งแต่ประเทศไทย ปลดล็อก “กัญชาเสรี” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5  แต่ยังคงห้ามสารสกัดจากกัญชง กัญชาที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2%  ขณะที่การผลิต การนำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือการมีไว้ในครอบครองจะไม่มีความผิดอีกต่อไป

การปลดล็อกครั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงได้อย่างเหมาะสม ทั้งปลูกใช้ในครัวเรือนไม่ต้องขออนุญาตแต่ต้องจดแจ้ง รวมทั้งดูแลผู้ป่วย หรือใช้ในเชิงพาณิชย์ แน่อนนว่าเราคงได้เห็นว่า กัญชา เกิดเป็นกระแสจนทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการออกแถลงการณ์ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขอให้รัฐเร่งพิจารณาให้มีมาตรการทางกฎหมาย และให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้มีการบริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืนเรื่องผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น ที่สามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมายจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย และชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย มีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบ เช่น เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี “ไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา” ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย-ข้อความเตือนอย่างชัดเจน โดยระบุว่า “ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค”

 

มหาวิทยาลัยมหิดล ออกคำแถลงการณ์คำแนะนำและข้อเสนอแนะของมหาวิทยาลัยฯ  ระบุตอนว่า กัญชาเป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์ (Cannabinoid : CBD) หลายชนิด โดยเฉพาะสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดโทษรุนแรงได้

 

เเม้เเต่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ทยอยออกประกาศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ก็ออกประกาศเตือนคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศ ไม่ให้นำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศ ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายทั้งโทษปรับ จำคุก ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งบทลงโทษก็เป็นไปตามกฎหมายของเเต่ละประเทศเเต่ะโทษรุนแรงที่สุดของอินโดนีเซียและสิงคโปร์ กรณีลักลอบค้า นำเข้า หรือส่งออก สูงสุดถึงประหารชีวิต

 

ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศ เตือน 27 ประเทศ ห้ามนำเข้า "กัญชา-กัญชง" หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชง  อ่านเพิ่มเติม (คลิกที่นี่)

 

“หมอ” ไม่หนุนใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

 

ในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย และการจัดการผลกระทบ" นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า กรมการแพทย์ยืนยันมาตลอดว่าสนับสนุนการใช้สารสกัดกัญชาเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น โดยไม่สนับสนุนการใช้ด้านสันทนาการอย่างเด็ดขาด โดยยึดหลักการทำงาน 3 ข้อ คือ ความปลอดภัยกับประชาชน ผู้ป่วยต้องได้รับประโยชน์ และไม่มีจุดยืนแอบแฝง โดยการใช้กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่จะไม่เป็นทางเลือกแรกในการรักษา

 

แนวโน้มผู้ป่วยจากกัญชาเพิ่มขึ้นหลังปลดล็อกกัญชา

 

นพ.เฉลิมพล ไชยรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ระบุข้อมูลทางจากกรมการแพทย์พบว่า หลังจากที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เมื่อประมาณต้นปี 62 ได้เกิด First Wave พบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น เฉลี่ยประมาณ 150-200 ราย/เดือน ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการสื่อสารกับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และมีการอบรมเรื่องกัญชา ทำให้แนวโน้มผู้ป่วยลดน้อยลง อยู่ที่ประมาณ 50-100 ราย/เดือน และคงที่มาตลอดถึงช่วงปลายปี 64

 

หลังจากที่ประเทศไทยมีการปลดล็อกกัญชา ในวันที่ 9 มิ.ย. 65 เริ่มเห็นแนวโน้มการเกิด Second Wave พบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการใช้กัญชาสูงขึ้นจากเดือนพ.ค. 65 โดยคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจากกัญชาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย. 65 ซึ่งทางการแพทย์จะต้องมีการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการให้ความรู้ การให้บริการ และการปรับโครงสร้างห้องฉุกเฉิน เป็นต้น

 

ข้อมูลการเข้ารับการบริการห้องฉุกเฉินขงโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. - 4 ก.ค. 65 พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาแล้ว 31 ราย (ยังไม่พบผู้เสียชีวิต) อายุเฉลี่ย 28 ปี ส่วนใหญ่มีอาการโรคทางระบบประสาทและจิตประสาท รองลงมา คืออาการโรคหัวใจ และอาการโรคทางเดินอาหาร ตามลำดับ โดยมีสาเหตุมาจากการใช้ด้านสันทนาการ 86% และอื่นๆ อีก 25.8% โดยไม่มีการใช้ทางการแพทย์เลย ซึ่งแตกต่างจากช่วง First Wave ที่ส่วนใหญ่มาจากการใช้ทางการแพทย์