สร้าง DNA ความยั่งยืน คน ‘ไทยบริดจสโตน’

18 ธ.ค. 2564 | 11:16 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2564 | 18:33 น.

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ได้ต้อนรับแม่ทัพคนใหม่ “เคอิจิ ชูมะ” ที่เข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่มกราคม 2564 พร้อมกับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เข้มข้นกับนโยบายด้านความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น

ตามแนวทางของบริษัทแม่ บริดจสโตนคอร์ปอเรชัน บริษัทข้ามชาติด้านยานยนต์และชิ้นส่วนขนส่งของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถขึ้นมาอยู่ที่หนึ่งแทนมิชลินได้ในปี 2557 

สร้าง DNA ความยั่งยืน คน ‘ไทยบริดจสโตน’

เพราะฉะนั้น การเข้ามารับหน้าที่ผู้นำของ “ชูมะ” ไม่เพียงแต่ต้องขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่หลากหลายธุรกิจ รวมทั้งไทยบริดจสโตน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 เขายังต้องทำหน้าที่หล่อหลอมจิตสำนึก และ Mindset ของคนไทย ไทยบริดจสโตน ให้สอดรับกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่ไปพร้อมๆ กัน

เอ็มดีป้ายแดงของไทยบริดจสโตน เล่าว่า บริดจสโตน มีการจัดตั้ง “หน่วยงานเพื่อความยั่งยืน” (Sustainability Head) อยู่ที่สิงคโปร์ และสำหรับประเทศไทย ก็จะปรับเปลี่ยนแนวทางการทำซีเอสอาร์ ให้เชื่อมโยงสู่ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาหน่วยงานนี้จะต้องรายงานกับฝ่ายเอชอาร์

สร้าง DNA ความยั่งยืน คน ‘ไทยบริดจสโตน’

แต่ต่อจากนี้ จะต้องรายงานตรงกับเอ็มดี และเอ็มดีจะต้องทำหน้าที่ตัดสินใจแนวทางการดำเนินงานเพื่อสังคมโดยตรง ซึ่งทุกประเทศที่บริดจสโตนดำเนินงาน จะใช้นโยบายเดียวกัน

ปีหน้าไทยบริดจสโตนจะเน้นความยั่งยืนใน 2 เรื่องหลัก คือ เน้นกิจกรรมซีเอสอาร์ และเน้นเรื่องโรดเซฟตี้ โดยให้พนักงานมีส่วนร่วม รวมถึงการทำเรื่องความยั่งยืนในกระบวนการผลิต โฟกัสเรื่องการรีไซเคิลยางมากขึ้น นอกเหนือจากที่ทำเรื่อง รีเทรด การทำหน้ายางรถใหญ่ นำยางที่ใช้แล้ว มารีเทรด ทำใหม่ และอีกประเด็นคือ ยางที่ใช้แล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา และจะเริ่มดำเนินการปีหน้า
 

 

“เรามุ่งเน้นทั้งกระบวนการผลิต ระหว่างวงจรการผลิต และการขายส่งออกไป จะทำทุกขั้นตอนให้ยั่งยืน อะไรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะทำให้มันยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง” เอ็มดีไทยบริดจสโตนกล่าว และบอกว่า การดำเนินการเรื่องนี้ ไทยบริดจสโตนไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาล และซัพพลายเออร์ เพื่อทำให้การผลิตยางเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ
 

นั่นคือ ส่วนหนึ่งของการทำงาน ที่เอ็มดี “ชูมะ” กำลังเดินหน้าทั้งการประสานงาน และการศึกษาข้อมูล 
 

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในแง่ของการบริหาร คือ บุคลากรภายในองค์กร “ชูมะ” บอกว่า เขามีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ที่แน่ๆ คือ เขาต้องการสร้างให้บริดจสโตนเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในไทย ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ และการมีส่วนร่วมกับสังคม

 

ช่วงเวลาที่ผ่่านมา “ชูมะ” ยอมรับว่า เป็นช่วงที่ยากลำบาก เพราะโควิด -19 ความต้องการของตลาดขึ้นๆ ลงๆ ไม่สามารถคาดเดาได้ สิ่งที่ต้องทำให้มากที่สุด คือ การสื่อสาร ตลอดทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ทีมงาน ส่วนของวัตถุดิบ การขนส่ง การขาย รวมถึงการลงทุนด้านการผลิต ต้องพยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้ได้ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างไม่สะดุด ในช่วงเวลาที่เปราะบางเช่นนี้ ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี 
 

 

ผู้บริหารหนุ่มท่านนี้ ผ่านงานมาหลากหลาย ทั้งการขายและการตลาด แต่สิ่งหนึ่งที่เขาถูกปลูกฝังมาตลอด คือ เรื่องของความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และตอนนี้ความยั่งยืน กลายเป็นเรื่องสำคัญและมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่เพียงแค่ไทย แต่ทั่วโลกต้องปรับตัว ในการสร้างธุรกิจและสังคมให้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนต้องเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนวิธีคิด  
 

“โดยส่วนตัวของผมพร้อม ส่วนทีมงาน เราต้องกระตุ้น ให้ความสำคัญและให้ความรู้ ทำให้พนักงานเข้าใจจริงๆ ว่า ความยั่งยืนคืออะไร มันไม่ใช่แค่ซีเอสอาร์ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่มายด์เซ็ท ผมเชื่อมั่นในพนักงานบริดจสโตน เราทำซีเอสอาร์มายาวนาน ถ้าเราออนท็อปจากซีเอสอาร์ แล้วมาสร้างให้มันยั่งยืน ก็จะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น เราจะเริ่มให้ความรู้ และขยายผลต่อจนกลายเป็นดีเอ็นเอ” 


“ชูมะ” อธิบายทิ้งท้ายว่า ความยั่งยืน มีกรอบที่กว้างมาก สิ่งที่ผู้บริหารต้องทำ คือ ต้องใส่ลงไปในกิจกรรม สร้างเป็นแอคชั่นแพลน ทำให้เกิดได้จริงตามแผน ที่เราได้วางไว้ โดยสอดแทรกเรื่องซีเอสอาร์และกระบวนการผลิตเข้าด้วยกัน เขากำลังพยายามทำให้ทีมงานเข้าใจมากขึ้น เพราะความยั่งยืนคือ หัวใจสำคัญที่นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,740 วันที่ 16 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564