รัฐ-เอกชนหนุน สร้างมูลค่าเพิ่ม สมุนไพรลุยโลก

05 พ.ย. 2564 | 14:32 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2564 | 22:28 น.
925

ภาครัฐ-เอกชน ขานรับตลาดสมุนไพรไทยบูม เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทย พัฒนาขึ้นทะเบียนพร้อมนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม จับตาโปรดักส์ แชมเปี้ยน ทั้งฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ลำไย กัญชา กัญชง กระท่อม พร้อมเติบโตรับเทรนด์ตลาดโลก

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดสมุนไพรไทย โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างโอกาสให้สมุนไพรเติบโตแบบก้าวกระโดด และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก แต่การก้าวขึ้นเป็นThai Hub Thai Herb โอกาสของผู้ประกอบการไทยอยู่ตรงไหน ในงานสัมมนาออนไลน์ “สมุนไพรไทย สมุนไพรโลก THAI HUB : THAI HERB” ในช่วงเสวนาหัวข้อ THAI HUB : THAI HERB : โอกาสทางธุรกิจ มีคำตอบ

 

เร่งให้ความรู้ เพิ่มช่องทางขาย

 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการ ส่งเสริมพืชสมุนไพรไทย โดยมี 2 ส่วน ที่กรมดำเนินการตามนโยบาย โดยในระดับแรกกรมขับเคลื่อนพืชสมุนไพรให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยกรมได้มีการประสานงานในกรมต่างๆที่อยู่ในกระทรวงเกษตรฯ และกรมอื่นๆที่อยู่นอกเหนือกระทรวง เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนงานสมุนไพรไทย

รัฐ-เอกชนหนุน สร้างมูลค่าเพิ่ม สมุนไพรลุยโลก

และอีกส่วนคือการเดินหน้าตามแผนแม่บท ซึ่งกรมมีโครงการที่ดำเนินการ เช่น การส่งเสริมเกษตรกรภายใต้แผนแม่บทปี 2566-2570 ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพร และการส่งเสริมในการลงทุนในพื้นที่EEC ซึ่งในกรอบแนวคิดตลาดนำการผลิตตามนโยบายของกระทรวง รวมถึงการเข้าไปช่วยกำหนเพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกไพรว่าตรงพื้นที่ไหนเหมาะและปลูกให้ถูกที่ ถูกเวลา ก็มีการให้คำแนะนำเกษตรกรให้ผลิตออกมาอย่างเหมาะสมและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์

 

นอกจากนี้กรมยังได้ร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ทางเลือกในการขับเคลื่อนพืชสมุนไพรที่มีความสำคัญให่มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอตามความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรมมีการดำเนินงานในหลายมิติ เช่นสนับสนุนเกษตรให้มีความรู้ถึงปัจจัยการผลิต ว่าทำอย่างไรให้มีคุณภาพและเพียงพอ รวมไปถึงส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไปจนถึงการแปรรูป เพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง

 

โดยที่ผ่านมา มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกสมุนไพร่ 3.6แสนราย หรือมีพื้นมี่ปลูกประมาณ 1 ล้านไร่ ส่วนเรื่องการทำตลาดคือ เดิมเกษตรกรเน้นการขายแบบออฟไลน์เป็นหลัก แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 พฤติกรรมผู้โภคเปลี่ยนไป หันมาสั่งสินค้าทางออนไลน์ ดังนั้นกรมมีการส่งเสริมการตลาดให้เกษตรกรในการขายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้ซื้อที่ต้องการซื้อสมุนไพรมากขึ้น

กัญชา

“อนาคตลาดสมุนไพรโตหรือไม่ ยืนยันว่าตลาดสมุนไพรไทยมีอนาคตแน่นอนและมีการเติบโตที่ดี โดยฟ้าทะลายโจรคือพืชสมุนไพรที่มาแรง ปีงบประมาณที่ผ่านมากรมได้คัดพันธุ์เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรและประชาชน ไปกว่า 2 ล้านตัน ในการนำไปขยายพันธุ์ ส่วนปัจจัยสนับสนุนคือภูมิอากาศของไทยเป็นแบบร้อนชื้นดังนั้นจึงเหมาะแก่การปลูกพืชที่หลากหลาย

 

ทั้งผัก ผลไม้ รวมไปถึงสมุนไพร แต่จะทำอย่างไรให้สมุนไพรเรามีคุณภาพตรงนี้นักวิชาการก็ต้องเข้ามาช่วยในการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีออกมาเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก นอกจากนี้กรมยังเปิดพื้นที่ขายสมุนไพรกับเกษตรกร คือตลาดเกษตรออนไลน์ บนเว็บไซต์ของกรม ฟรีไม่มีค่าใช่จ่ายใดๆ”

 

อย. เดินหน้าขึ้นทะเบียน

 

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สมุนไพรไทย มีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในบทบาทของ อย.นั้น นอกจากการผลักดัน ให้สมุนไพรต่างๆ เข้ามาสู่ บัญชียาหลัก และสมุนไพรหลักแล้ว อีกหน้าที่ คือ การส่งเสริม เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย เปลี่ยนผ่านจากการขายวัตถุดิบสมุนไพรทั่วๆ ไป มาสู่การศึกษาวิจัยด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนสมุนไพรไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ยาและอาหาร เป็นต้น

 

“หลังจากปี 2562 เราได้ผลักดันสมุนไพรไทยอย่างเต็มที เดิมการพิจารณาขึ้น อย. ของสมุนไพรไทยอาจค่อนข้างล่าช้า แต่ปัจจุบัน การพิจารณา แยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง บางชนิดขอเช้าได้เย็น และมีระบบการจดแจ้ง การพิจารณาเป็นหลักเฉพาะ ซึ่งเอื้อต่อผู้ประกอบการ ขณะการผลิตก็เช่นกัน ได้เอื้อต่อเกษตรกร ที่ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเองเหมือนในอดีต”

 

นอกจากนั้น อย. ยังมีแนวทางสนับสนุนผู้ผลิต - ผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำ การให้ความรู้ การวิจัย การพัฒนา ทำงานประสานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปจนถึงการขึ้นทะเบียน และช่องทางการขาย การตลาด ซึ่งเป็นปลายน้ำของธุรกิจ ผ่านการทำงานของกองผลิตภัณฑ์ สมุนไพร, กองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม และกองความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีบัญชียาหลักที่เกี่ยวเนื่องกับสมุนไพรแล้วทั้งสิ้น 90 รายการ ซึ่งสมุนไพรที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในช่วงสถานการณ์โควิด19 อย่าง “ฟ้าทะลายโจร” นั้น จากเดิมใช้เพื่อรักษาไข้หวัด ลดไข้ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการสนับสนุน การศึกษา วิจัยค้นพบประโยชน์ จนผลักดัน สู่บัญชียาหลัก และนำมาใช้บรรเทาอาการจากโควิดได้ เช่นเดียวกับ กัญชา-กัญชง ได้มีการผลักดัน ขยับกฎเกณฑ์หลายอย่าง จนหลุดพ้นจากประเภทยาเสพติด ซึ่งการแปรรูป ก่อให้เกิดรายได้แก่กับเกษตรกรได้อย่างมาก

 

ปั้น Wellness & Tourism

 

ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า รพ. มองเห็นโอกาสจากการดูแลสุขภาพของคนที่เปลี่ยนไป โดยพบว่าเทรนด์การดูแลสุขภาพในอนาคต มุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา, ต้องการความเป็นหนุ่มสาว, ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม, การป้องกันโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงโรคระบาด และต้องมีเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ดังนั้นรพ.จึงทำโมเดลว่าสมุนไพรจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างไร ผ่านการวิจัยต่างๆ ซึ่งพบว่า สมุนไพรหลายประเภทสามารถตอบรับกับความต้องการได้ เช่น มะระขี้นก ช่วยลดน้ำหนัก ไขมัน และน้ำตาล ฯลฯ ขมิ้นชัน ลดความเสี่ยงเป็นเบาหวาน ดาวเรือง บำรุงสายตา เป็นต้น

 

โดยพบว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยหลายชนิดที่ได้รับความนิยมในอาเซียน เช่น เครื่องสำอาง แต่แบรนด์ไทยยังต้องเน้นการพัฒนาสารสกัดในประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ โดยอาศัยการวิจัย และเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง โดยอาศัยจุดแข็ง ความโดดเด่นด้านบริการ ที่จะผสมผสานสมุนไพรไทยเข้าสู่ธุรกิจ Wellness & Tourism

 

ขณะที่สมุนไพรหลายชนิดมีศักยภาพ เช่น กัญชา แต่รูปแบบการใช้หรือการบริโภคในไทยและต่างประเทศแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคในแต่ละประเทศ และตลาดเฉพาะที่แตกต่างกันไป เพื่อสร้างโอกาส ขณะที่การนำเสนอวิธีใช้ ก็มีความจำเป็นแต่ต้องมีการศึกษาวิจัย การสร้างนวัตกรรม รวมถึงผลวิจัยทางการตลาดมาช่วยสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมุนไพร ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

กัญชา

“สมุนไพรไทยหลายประเภทที่มีศักยภาพ เช่น รางจืด ขมิ้น ข่า รวมถึงกัญชง ที่มีโอกาสในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ รวมถึงการแปรรูปสู่ธุรกิจบริการ ในด้านท่องเที่ยว เกษตรทฤษฏีใหม่ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ ที่เชื่อว่าหากสอดแทรกผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าไปได้ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น”

 

ดันลำไยเทียบเท่าโสม-ถั่งเช่า

 

ภก.อภิญญุวงศ์ จงจรัสพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็ม80 จำกัด กล่าวว่า สารสกัดลำไย P80 มีความตั้งใจที่อยากให้ประเทศไทยได้มีผลไม้ที่มีสรรพคุณด้านยาจนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้เช่นเดียวเกาหลีที่มีโสม หรือจีนมีถังเช่าเป็นสมุนไพรชูโรง ด้วยสารสกัดจากลำไยที่มาจากธรรมชาติ 100% และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับโสมและถังเช่า สามารถแข่งขันในระดับโลกได้

 

โดยที่ผ่านมา PM80 ซื้อลิขสิทธิ์วิธีสกัดสารสกัดลำไยจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทุ่มงบกว่า 1,600 ล้านบาท เพื่อสร้าง โรงงานและพัฒนาในเนื้อที่กว่า 175 ไร่ที่จังหวัดลําพูนเพื่อผลิตสารสกัดจากลําไยพิเศษ รวมทั้งได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนรับซื้อผลลําไยจาก เกษตรกรโดยตรง กว่าปีละ 7,000-10,000 ตัน มูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาท เพื่อนํามาผลิตเครื่องดื่ม P80 Natural Essence ซึ่งใช้งบในการวิจัยพัฒนากว่า 1,500 ล้านบาท

 

และงบลงทุนอีก 1,000 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตที่ทันสมัย บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ นอกจากนี้บริษัทได้มีความร่วมมือในการวิจัยกับสถาบันการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ อาทิคณะเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสถาบัน ADSI ประเทศออสเตรีย รวมทั้งลงทุนโรงงานจนได้มาตราฐานในระดับการผลิตยาสมุนไพร ซึ่งสามารถรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรในอนาคต