โอสถสภา คว้าอันดับหุ้นยั่งยืนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

07 ต.ค. 2564 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2564 | 02:08 น.
676

โอสถสภา หรือOSP ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 146 บริษัทจดทะเบียนที่มีรายชื่ออยู่ในหุ้นยั่งยืน ‘Thailand Sustainability Investment’ (THSI) ประจำปี พ.ศ. 2564 กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 146 บริษัทจดทะเบียนที่มีรายชื่ออยู่ในหุ้นยั่งยืน ‘Thailand Sustainability Investment’ (THSI) ประจำปี พ.ศ. 2564 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)  ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

ด้วยความมุ่งมั่นในการเสริมสร้าง “พลังเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน” โอสถสภาดำเนินธุรกิจด้วยการยึดหลักความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุการเติบโตด้านผลกำไรในระยะยาว และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ความยั่งยืนได้ถูกผนวกเข้ากับกลยุทธ์หลักขององค์กรในการวางรากฐานที่มั่นคงและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความผันผวนตามกลยุทธ์เสาหลัก 3 + 1 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

เสาหลักดังกล่าว ได้แก่ 1) เสาหลักด้านธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้กับธุรกิจของโอสถสภาและคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า 

 

2) เสาหลักด้านสังคม ซึ่งมุ่งสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมพนักงานในองค์กรให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยโครงการที่มุ่งพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับคนในสังคม

 

3) เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งมั่นลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการ “Bottle to Bottle” หรือ “ส่งขวดแก้วสู่ขวดแก้ว” ส่งเสริมการนำขวดแก้วที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตขวดใหม่ บริหารจัดการน้ำในกระบวนการผลิต ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเสาหลักทั้งสามนี้มีบุคลากรในองค์กร (People) เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อน แผนให้บรรลุตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ 

และในปีนี้ โอสถสภายังได้ดำเนินการตามโรดแมปความยั่งยืน 5 ด้าน ตามแผน 5 ปี (2563 – 2568) ซึ่งรวมถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้บริโภค ตลอดจนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยตั้งเป้าในการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน ลดการนำเข้าและเพิ่มการใช้วัตถุดิบสมุนไพรภายในประเทศ พร้อมเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้าในเครือทั้งหมดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้

 

สำหรับในปี 2564 นั้น แม้ภาคส่วนต่างๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยการให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น โอสถสภาสามารถปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับให้ความช่วยเหลือสังคมในหลากหลายมิติ สอดคล้องกับแนวทางในการให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ครอบคลุมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยนำปัจจัย New Normal เช่น ประเด็น Digital Transformation และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) เพื่อปรับตัวและตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต พร้อมกับให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเพื่อให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและรักษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน (Operational Efficiency) รวมถึงการช่วยเหลือสังคม ผู้มีส่วนได้เสียทั้งลูกค้าและคู่ค้า เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ไปด้วยกัน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

 

การได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) ประจำปี 2564 นั้นถือเป็นสิ่งยืนยันในความรับผิดชอบและความมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สังคม และสิ่งแวดล้อม มาตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ 130 ปีของโอสถสภา และพร้อมที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเติบโตคู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป