เคลียร์ชัด ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ทำจาก "พืชกระท่อม" ต้องขออนุญาตก่อนขาย

02 ก.ย. 2564 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 19:21 น.

อย. เตือน “พืชกระท่อม” นำไป ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ขออนุญาตก่อนขาย อาจเกิดผลข้างเคียงอาการไม่พึงประสงค์ หากรับประทานไม่เหมาะสม

จากที่ได้มีการปลดล็อก "พืชกระท่อม" ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกพืชกระท่อม ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้กระท่อมเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ตัวใหม่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยนั้น

 

นายแพทย์วิทิต  สฤษฎีชัยกุล  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยินดีสนับสนุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกรณีที่มีการนำพืชกระท่อมมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย

 

 เช่น ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ขอให้ผู้ประกอบการมาขออนุญาตกับ อย. ก่อนการนำออกจำหน่าย โดย อย. มีหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และรายละเอียดในการขออนุญาตได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นการยืนยันในเรื่องประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน รวมทั้งปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ "พืชกระท่อม" เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา มีสารสำคัญที่เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อว่าสามารถลดอาการปวด ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน  ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า

 

 อย่างไรก็ตาม การนำ "พืชกระท่อม" มาบริโภคโดยตรงควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์การใช้ในชุมชน เช่น หมอพื้นบ้าน หรือบุคลากรทางสาธารณสุข เนื่องจากการรับประทานอย่างไม่เหมาะสม อาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้