ปักหมุด “กัญชา-กัญชง-กระท่อม” ชิงตลาด 8 แสนล้านบาท

05 พ.ค. 2564 | 14:50 น.
1.4 k

เกษตรฯ เดินหน้าปักหมุด “กัญชา-กัญชง-กระท่อม” ชิงตลาด 8 แสนล้านบาท ดันงานวิจัย ‘กัญชง’ มอบศูนย์ AIC 77 จังหวัดร่วมขับเคลื่อน

ตามนโยบายของ รัฐบาลมุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ รวมทั้งการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะ พืชเศรษฐกิจ “กัญชา-กัญชง-กระท่อม” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ หลังจากที่กฎหมายได้อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้

 

อลงกรณ์ พลบุตร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (5 พ.ค.) ว่า ประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็น “ฮับกัญชา-กัญชง-กระท่อม” อีกทั้งยังเป็นโอกาสของไทยที่จะช่วงชิงตลาดกัญชา กัญชงและกระท่อม มูลค่า 8 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 30% ต่อปีและอีก 4 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท

 

ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำใน 4 รูปแบบ คือ เกษตรอาหาร (คนและสัตว์) เกษตรสุขภาพ เกษตรพลังงาน และเกษตรท่องเที่ยว เพื่อจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชง และกระท่อม ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายพืชแห่งอนาคต (Future Food Future Crop) ให้เร่งพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกรและ ผู้ประกอบการเกษตรทางด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชา กัญชงและกระท่อมในทุกมิติ

 

ตั้งแต่กฎหมายข้อระเบียบจนถึงสถานการณ์ตลาด และราคาทั้งในและต่างประเทศ โดยมอบหมายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัด เป็นกลไก สนับสนุนในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกัญชงซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯได้วิจัยและพัฒนากัญชงและผลิตภัณฑ์กัญชงมากว่า 17 ปี


สวพส. กล่าว

วิรัตน์ ปราบทุกข์

 

ทางด้านนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อานวยการ สวพส. กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ศึกษาและวิจัยกัญชงอยู่ในปัจจุบัน จึงได้จัดสรรเมล็ดกัญชงที่ผลิตไว้สำหรับการศึกษาและวิจัยของ สวพส. นำมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงและสวพส. หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับ สวพส. หน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไป หรือนิติบุคคลที่สนใจ จำนวนรวม 5,600 กิโลกรัม

 

ตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการควบคุม การจำหน่าย การกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ ส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ของเฮมพ์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวง, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), ผู้แทนสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจำหน่ายและราคาเมล็ดกัญชง ที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนและผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยมีเมล็ดกัญชงที่จะจำหน่าย 2 พันธุ์ คือ RPF1 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงมากกว่า 1,000 เมตร และพันธุ์ RPF3 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงระดับ 500-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งประกอบด้วย

 

1. เมล็ดพันธุ์รับรอง (Certified seed) จำนวน 3,000 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ราคา 300 บาท/กก. หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 400 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 520 บาท/กก. และ 2. เมล็ดบริโภค (Grain) จำนวน 2,600 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 250 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 750 บาท/กก.

 

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนา และการทดลองปลูก ได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สวพส. ได้พิจารณาและกำหนดปริมาณเมล็ดที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้ขอซื้อแต่ละราย ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ ดังนี้ 1.เมล็ดพันธุ์รับรอง (Certified seed) : สำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ไม่เกิน 20 กก./ราย หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 30 กก./ราย และสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกิน 20 กก./ราย 2.เมล็ดบริโภค (Grain) : สำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 50 กก./ราย และสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เกิน 20 กก./ราย (R&D)

 

เมล็ดพันธุ์รับรอง

 

การดำเนินงานที่ผ่านมา สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาพันธุ์กัญชงจำนวน 4 พันธุ์ คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 สำหรับการปลูกเพื่อผลิตเส้นใย โดยทุกพันธุ์ ที่มีปริมาณสารเสพติด (THC) 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด มีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% และมีปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ (CBD) 0.8-1.2% และได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2554 และพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นเมล็ดพันธุ์รับรองตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 เฉพาะเฮมพ์ ปี 2559

 

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศ “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย

 

หรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้ โดยส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% เป็นผลให้ความสนใจในการทดลองปลูก และศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชง เพิ่มขึ้นอย่างมากภายในระยะเวลาอันสั้น ในขณะที่ยังไม่มีการผลิตเมล็ดกัญชงไว้ล่วงหน้า

 

“สำหรับผู้สนใจที่ต้องการขอซื้อ ทั้งเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (Partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอซื้อ ผ่านทางเว็บไซต์ของ สวพส. https://www.hrdi.or.th/PublicService/HempInfo หรือยื่นเอกสารด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์

 

โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://www.hrdi.or.th/public/files/PublicService/HempInfo/HRDIPurchaseRequestForHemp.pdf ระหว่างวันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 โดยปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์  https://www.hrdi.or.th/ หรือ Facebook Fanpage : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)” ผู้อำนวยการ