รู้จัก"ใบกระท่อม"(ว่าที่) พืชเศรษฐกิจใหม่

25 ส.ค. 2564 | 15:51 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 23:01 น.
5.4 k

เปิดสรรพคุณทางยา ประโยชน์ และโทษ ของ "ใบกระท่อม" ว่าที่พืชเศรษฐกิจใหม่ หลังรัฐฯปลดล็อกพืชกระท่อมตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 64 ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูก-ขายได้อย่างเสรี

หลังจากมีการประกาศปลดล็อก "พืชกระท่อม" หรือ "ใบกระท่อม" ออกจากยาเสพติดให้โทษ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทำให้ประชาชนสามารถปลูกและขายพืชกระท่อมได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่นๆ เช่น  4 × 100 ยังถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย  ขณะที่การนำเข้าหรือส่งออกไปต่างประเทศในเชิงอุตสาหกรรมนั้น ก็ต้องขออนุญาตก่อน

 

ดังนั้นก่อนที่จะไปซื้อ-ขาย หรือปลูก พืชกระท่อม วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ"พืชกระท่อม" หรือ "ใบกระท่อม" ทั้งในส่วนของสรรพคุณทางยา รวมไปถึงประโยชน์และโทษมานำเสนอ ดังต่อไปนี้ 

 

-ชื่อทางวิทยาศาสตร์

  • Mitragyna speciosa Korth อยู่ในวงศ์ Rubiaceae ชื่ออื่นๆที่เรียก ท่อม อีถ่าง

-ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.

-แหล่งที่พบ 

  •  ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย

 

-สรรพคุณทางยา

  • สมัยโบราณ กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เข้าเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ท่องร่วง ทำให้นอนหลับ ระงับประสาท  

 

-วิธีการใช้

  • เคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก ส่วนมากจะเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ และดื่มน้ำอุ่น หรือกาแฟร้อนตาม ใช้วันละ 3-10 ครั้งต่อวันตามอาการเหนื่อย  

-โทษของใบกระท่อมและอาการข้างเคียง

  • ปากแห้ง, ปัสสาวะบ่อย, เบื่ออาหาร,ท้องผูก, อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ, นอนไม่หลับถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากจะทําให้มึนงง ,คลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม)บางรายผิวคล้ำและเข้มขึ้น ,มีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน 

 

-อาการเมื่อหยุดเสพใบกระท่อม

  • ไม่มีแรง ,ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก ,แขนขากระตุก,อ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้,อารมณ์ซึมเศร้า,นํ้าตาไหล ,นํ้ามูกไหล ,ก้าวร้าว ,นอนไม่หลับ ,ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ,ถ่ายอุจจาระเหลวมากปกติ,อยากอาหารยาก ,อาเจียนคลื่นใส้,มีอาการไอมากขึ้น ,กระวนกระวายมากขึ้น

 

เรียกได้ว่ามีทั้งคุณประโยชน์และโทษอยู่ในตัวสำหรับพืชกระท่อม อย่างไรก็ตามในมุมมองของนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ  โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. .... ที่ได้เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ก็บอกเล่าว่า การปลดล็อกพืชกระท่อมในครั้งนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชน

 

เนื่องจากประเมินแล้วว่า ถ้าปลูกกระท่อม 1 ไร่ จะมีรายได้มากกว่าปลูกยางพารา 10 เท่า  และขณะนี้ยางพารากิโลกรัมละไม่เกิน 40 บาท  แต่ กระท่อม ราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท  หรือมากกว่า ดังนั้น ถ้าปลูก 1 ต้นจะมีรายได้เดือนละประมาณ 3,000 บาท

 

อย่างไรก็ดีต้องควบคุมการปลูก เพราะหากปลูกมากเกินไป เห็นว่าจะได้ดี แห่กันปลูก สุดท้ายราคาตกเพราะมีเยอะ การทำอะไรต้องศึกษากลไกการตลาดควบคู่ด้วย

 

 

ที่มาข้อมูล :

1.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข 

2.กระท่อม ยาระงับปวดหรือยาเสพติดเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์