"สุนทร" ถอดบทเรียน “กัญชา” สู่ “พืชกระท่อม” ใครได้ประโยชน์

13 ก.ค. 2564 | 13:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 20:39 น.
1.1 k

ถอดบทเรียน “กัญชา” สู่ “พืชกระท่อม” ใครได้ประโยชน์ เผยโดนหลอกทั้งประเทศ ตั้งแต่ “กัญชา” ล็อกอนุสัญญาระหว่างประเทศ มีกลุ่มทุนนักการเมืองที่ได้รับใบอนุญาต สุนทร ดักคอ “กระท่อม” ผวาซ้ำรอยตามกัญชา  

สุนทร รักษ์รงค์

 

สุนทร รักษ์รงค์ อดีตอนุกรรมาธิการปลดล็อก พืชกระท่อม และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในเรื่อง “กัญชาเราถูกหลอกมาตั้งแต่เขาชงเรื่อง เพราะทุกฝ่ายรู้ว่ากัญชาติดอนุสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ จึงยังเป็นยาเสพติด ในขณะที่กัญชงไม่ได้เป็นยาเสพติด แม้จะมีสาร CBD สูงก็ตาม แต่กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เส้นใยได้อย่างดี

 

แต่ก็มีช่องให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ถ้านักการเมืองจริงใจ ต้องปลดล็อกให้ผู้ป่วยที่มีแพทย์รับรองให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธิขออนุญาตปลูกบ้านละ 2-3 ต้นหรือมากกว่านั้น และให้สามารถใช้กัญชาได้ทุกส่วน ตั้งแต่ช่อดอกที่มี THC สูง และ CBD ที่ช่วยรักษามะเร็ง

 

แต่พอต้องมาขออนุญาตการปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชาผ่าน อย.และต้องจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน พร้อมทำ MOU 3 ฝ่ายกับสถาบันทางวิชาการ และกระทรวงสาธารณสุข จบครับ นักการเมืองวางหมากใช้กัญชาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ของชาวบ้าน

 

นายสุนทร กล่าวว่า วันนี้จึงมีแต่กลุ่มทุนของนักการเมืองที่ได้รับใบอนุญาต ผ่านธุรกิจขายตรง แต่ชาวบ้านเข้าถึงกัญชายากมาก ทั้งที่ควรเป็นสมุนไพรประจำบ้านเพื่อใช้ในการรักษาโรค โดยไม่ต้องไปซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาจากบริษัทของเอกชน ที่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

 

แตกต่างจากพืชกระท่อมที่ปลดล็อกจากยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีปลูกเสรีบ้านละ 3 ต้น และให้มีการใช้พืชกระท่อมในวิถีวัฒนธรรมโดยการเคี้ยวหรือหวนท่อม และการแปรรูปขั้นต้นแบบชาวบ้าน เช่น การต้ม การกลั่นสกัด การทำผงหรือแคปซูล เพื่อให้ง่ายต่อการใช้รักษาโรคสำหรับคนที่เคี้ยวใบสดไม่ได้

 

รัฐควรมีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ให้มีควบคุมการใช้พืชกระท่อม เฉพาะกรณีเยาวชนและการเอาไปผสมยาเสพติดอื่น หรือการนำพืชกระท่อมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ก็ต้องขออนุญาตทั้งเกษตรกรและกลุ่มทุน อย่างเสมอภาคกัน

 

นายสุนทร กล่าวว่า ในที่ประชุมประชุมคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร (9 ก.ค.64)  เรื่องแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูก กัญชา กัญชง กระท่อม และพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยเชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้ข้อมูลที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขาง พอสรุปได้ดังนี้

 

1.กัญชา ยังเป็นยาเสพติด ใช้ประโยชน์จาก THC และ CBD การปลูกต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และต้องขออนุญาตจาก อย.รวมทั้งการทำ MOU กับสถาบันทางวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องกัญชา และกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนไม่เข้าถึง บางส่วนไม่เข้าใจ บางคนถูกจับเพราะเข้าใจผิดว่าปลูกได้บ้านละ 6 ต้นโดยไม่ต้องขออนุญาต ขั้นตอนยุ่งยาก และดูเหมือนจะเอื้อให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ การประชุมครั้งหน้าจะเชิญกระทรวงสาธารณสุขและ อย.มาให้ข้อมูล

 

2.กัญชง ไม่ได้เป็นยาเสพติด ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย และสกัดสาร CBD ขั้นตอนคล้ายข้อ 1 แต่ไม่ต้องขออนุญาตจาก อย.และต้องทำโรงเรือน เพราะกัญชง กัญชา จะดูดสารพิษได้ดี จึงต้องเตรียมดินที่ปลอดภัย และจำกัดปริมาณน้ำ การปลูกกลางแจ้ง ปริมาณ THC จะมากขึ้น จะเข้าข่ายกัญชา ผิดกฎหมายอีก แต่กรณีใช้ประโยชน์จากเส้นใย ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนให้ยุ่งยากและมีต้นทุน


 

3.พืชกระท่อม ซึ่งผมเป็นคนอภิปราย โดยชี้แจงว่า กระท่อม กำลังจะถูกปลดล็อกจากยาเสพติดในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 แต่ตอนนี้มี พ.ร.บ.พืชกระท่อม กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่ผมดูร่างอย่างคร่าว มีความกังวล ว่าข้อกำหนดและบทบัญญัติ พ.ร.บ.พืชกระท่อมจะมีปัญหาคล้ายกัญชา

 

ทั้งๆที่ไม่ใช่ยาเสพติด คือขั้นตอนการควบคุมที่ยุ่งยาก จนประชาชนเข้าไม่ถึง เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน โดยกำหนดให้เขียนเป็นกฎกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตจะเขียนอย่างไร เพราะการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ นำมาซึ่งการทุจริตและการแสวงหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ของพี่น้องประชาชนดังนั้นผมมีข้อเสนอว่า พ.ร.บ.พืชกระท่อม ต้องมีบทบัญญัติที่ชัดเจน กรณีให้เป็นกฎกระทรวง ก็แค่เป็นเรื่องของขั้นตอนและรายละเอียด

 

1.ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมวิถีวัฒนธรรม คือการเคี้ยว หรือการหวนท่อม และการแปรรูปขั้นต้นแบบวิถีชาวบ้าน โดยไม่มีความผิด

 

2.การใช้ประโยชน์ตามข้อ 1 ให้ปลูกได้บ้านละไม่เกิน 3 ต้น โดยไม่ต้องขออนุญาต เป็นการเปิดเสรีจะไปควบคุมทำไม ในเมื่อกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด

 

3.ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ข้อ 1 แบบวิถีชาวบ้าน ด้วยการแปรรูปขั้นต้น เช่น ต้ม การกลั่นสกัด ทำผงหรือแคปซูล เพื่อใช้ประโยชน์สรรพคุณทางยา เพราะกรณีผู้หญิง ไม่นิยมเคี้ยว เพื่อรักษาโรคเบาหวาน ความดันและอื่นๆ

 

4.มีบทกำหนดโทษ กรณีการนำพืชกระท่อมไปต้มผสมกับยาเสพติดอื่นเช่น ยาแก้ไอ ที่มีโคเดอีน อนุพันธ์ของฝิ่น แต่ถ้านำไปต้มผสมกับสารอื่นที่ไม่ใช่ยาเสพติดก็ไม่มีความผิด

 

5.มีการกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการใช้พืชกระท่อม ในกรณีของเยาวชน

 

6.การใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมเชิงพาณิชย์ ให้เกษตรกรรวมกลุ่มจดทะเบียน ขออนุญาตแปรรูปเป็นสมุนไพรป้องกันและรักษาโรค ขออนุญาตตั้งโรงงาน ขออนุญาตการจำหน่ายและการส่งออก โดยกรณีนี้กลุ่มทุนก็สามาถทำได้ เสมอภาคกันการขับเคลื่อนเพื่อสร้างรายได้ในพืชเศษฐกิจใหม่ประชาชนต้องเข้าถึง

 

อย่างไรก็ดีต้องกราบขอบพระคุณท่านประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ส.ส.กันตวรรณ ตันเสถียร พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีวิสัยทัศน์และชุดความคิดที่ก้าวหน้า เพื่อความเสมอภาคของประชาชน