BCH วางแผนกระจายความเสี่ยงรุกคืบขยายธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งในและต่างประเทศ เจาะกลุ่มคนไข้ทุกระดับ ล่าสุด ดันแบรนด์อินเตอร์เจาะ สปป.ลาว เผย ดีมานด์ตลาดสูง ขณะที่ ในประเทศเตรียมเปิด "เกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี" รองรับผู้ประกันตนในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมกว่าแสนราย มั่นใจ! รายได้ปีนี้เติบโต 2 หลัก
ขณะที่ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นแตะ 1.7 แสนล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ผนวกการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและการหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการป้องกันแทนที่การรอให้ป่วยเพื่อรักษา ทำให้เกิดบริการรูปแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ท่ามกลางดีมานด์ที่สูงขึ้น การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็มีความรุนแรงและความเสี่ยงจากปัจจัยรอบด้าน ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เช่นเดียวกับโรงพยาบาลในกลุ่มของ บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ซึ่งประกอบไปด้วย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล และโรงพยาบาลการุญเวช โดยในปีที่ผ่านมา พบว่า BCH มีรายได้รวมกว่า 8,182.7 ล้านบาท เติบโต 11.2% รายได้มาจากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และเปิดศูนย์การแพทย์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การขยายฐานคนไข้เงินสด ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ขณะที่ ในด้านของรายได้จากกองทุนประกันสังคมมีการเติบโตเพียง 0.1% เพราะจำนวนโควตาผู้ประกันตนที่ลดลงและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการชำระเงินของสำนักงานประกันสังคม
ขณะเดียวกัน ในด้านของต้นทุนค่าใช้จ่ายในปี 2561 มีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 6,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 เป็นเงิน 679.6 ล้านบาท ทั้งนี้ บางส่วนมาจากต้นทุนกิจการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 517.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายการบริหารเพิ่มขึ้น 172.3 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อย้อนดูการลงทุนของ BCH ที่ผ่านมา เป็นการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในกลุ่มคนไข้ที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยการกระจายความเสี่ยงในด้านการลงทุน
โดย นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว คือ การขยายธุรกิจโรงพยาบาลให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนไข้ได้หลากหลาย เนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยงในด้านธุรกิจ พร้อมทั้งในปีนี้ โดยส่วนตัวคาดว่า รายได้รวมจะยังคงเติบโตตัวเลข 2 หลัก ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังดำเนินงานขยายธุรกิจโรงพยาบาลต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เริ่มต้นที่โครงการในตลาดต่างประเทศ ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปก่อสร้าง "โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์" แห่งที่ 2 แล้ว โดยตั้งบนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ให้บริการกลุ่มคนไข้ที่ใช้เงินสดชาวลาว นักท่องเที่ยว คนทำงาน เป็นต้น พร้อมทั้งคาดว่า โครงการนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาสแรกปี 2564
"บริษัทมองเห็นว่า ในพื้นที่เวียงจันทน์มีความต้องการสินค้าและบริการด้านโรงพยาบาลสูง เนื่องจากในอดีต คนลาวเมื่อเจ็บไข้จะนิยมเดินทางมารักษาในประเทศไทย หรือ เดินทางข้ามฝั่งมาที่ จ.หนองคาย แต่เนื่องจากระยะทางที่ค่อนข้างไกล และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดบางแห่งมีเวลาปิดทำการ ดังนั้น จึงเกิดความไม่สะดวก บริษัทเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้ลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่แห่งนี้ ที่มีความต้องการโรงพยาบาลของไทย"
ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงให้ความสำคัญการขยายธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งในเดือน เม.ย. นี้ บริษัทจะเตรียมเปิดให้บริการ "โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี" ซึ่งเป็นรูปแบบรองรับผู้ประกันตน เนื่องจากบริษัทมองว่า ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ที่ทำงานและอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวกว่า 1 แสนคน และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นไม่มีที่รองรับผู้ประกันสังคม
อีกทั้งในปีนี้ บริษัทจะดำเนินการรีโนเวต หรือ พัฒนาปรับปรุง "โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เชียงของ และ สปป.ลาว" ในพื้นที่ห้วยทรายเพิ่มเติม หลังจากที่ปีก่อนได้พัฒนาโรงพยาบาลที่แม่สาย จ.เชียงราย แล้ว
"สำหรับการเติบโตในปีนี้ บริษัทมองว่าจะมาจากปัจจัยที่มีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเปิด "โรงพยาบาลเกษมราฎร์ รามคำแหง" ที่จะทำให้รายได้ดี และการพัฒนาปรับปรุงโรงพยาบาลเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงมีศูนย์เฉพาะทาง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า ปีนี้โดยภาพรวมน่าจะเป็นปีที่ดีอีกหนึ่งปี"
หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3454 ระหว่างวันที่ 21 - 23 มีนาคม 2562