เฮ ครม.เคาะคนละครึ่ง เฟส 5 คนละ 800 บาท ใช้ 2 เดือน เริ่มก.ย.-ต.ค.นี้

26 ก.ค. 2565 | 12:24 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2565 | 16:07 น.
24.0 k

ที่ประชุมครม. เคาะคนละครึ่ง เฟส 5 คนละ 800 บาท โดยให้สิทธิประชาชนผู้ได้รับสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 วงเงิน 2.12 หมื่นล้านบาท โดยจะให้เงินไม่เกินคนละ 800 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ กำหนดจำนวนประชาชนผู้ได้รับสิทธิ 26.5 ล้านคน จะได้รับเงินตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 
 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี ถึงโครงการคนละครึ่ง เฟสที่ 5 มีรายละเอียด ดังนี้

 

รูปแบบการดำเนินการ 

  • ภาครัฐร่วมชำระค่าอาหารเครื่องดื่มสินค้าและบริการทั่วไปและบริการขนส่งสาธารณะที่กำหนดในอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน

คุณสมบัติ 

  • ต้องเป็นประชาชนสัญชาติไทยอายุ 18 ปี ขึ้นไป 
  • มีบัตรประชาชน 
  • ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ต้องการช่วยเหลือพิเศษ 
  • สำหรับประชาชนผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ต้องยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง เฟส 5 และใช้สิทธิครั้งแรก ภายในวันที่ 14 กันยายน หรือระยะเวลาที่ กระทรวงคลังกำหนด 
  • สำหรับประชาชนทั่วไป จะต้องใช้สิทธิ โครงการฯ เฟส 5 ครั้งแรกภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อความผ่าน แอปพลิเคชัน เป๋าตังหรือข้อความสั้น (SMS) แจ้งยืนยันสิทธิ หรือระยะเวลาที่กระทรวงคลังกำหนด

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.เห้นชอบ คนละครึ่ง เฟส 5

สิทธิประโยชน์ 

  • ภาครัฐจะร่วมจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าและบริการที่กำหนด ในอัตรา 50% ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการฯ 
  • ผู้ได้รับสิทธิสามารถซื้ออาหาร เครื่องดื่ม จากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตังค์” 
  • รัฐบาลจะสนับสนุนเงินในส่วนค่าอาหารและ/หรือเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่รวมค่าจัดส่งหรือค่าใช้จ่ายอื่น 
  • ประชาชนที่ได้รับสิทธิ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนที่ภาครัฐร่วมจ่ายตามโครงการนี้ด้วย

 

ประเภทสินค้าและบริการ 

  • อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวด สปา ทำเล็บ ทำผม และบริการขนส่งสาธารณะ โดยไม่รวมสินค้าสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัลบัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือ บริการล่วงหน้า ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้สามารถกำหนดเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าและบริการของโครงการฯ ได้

 

ผู้ประกอบการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ประกอบการร้านค้าสัญชาติไทย ที่เป็นร้านอาหาร /เครื่องดื่ม/ร้านค้าทั่วไป ไม่ใช่นิติบุคคล หรือร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชน หรือ ร้านธงฟ้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ จะต้องไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์
  2. ผู้ประกอบการบริการสัญชาติไทยที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่เป็นผู้ประกอบการบริการของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง หรือวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นผู้ให้บริการประเภทรถที่ตรวจสอบได้ เช่น รถสามล้อถีบ เป็นต้น
  3. ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะสัญชาติไทย ที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น แท็กซี่ รถสามล้อ รถสองแถวรับจ้าง รถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  4. ผู้ประกอบการประเภทบริการด้านขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟ รถโดยสารประจำทางสาธารณะและเรือโดยสารสาธารณะ

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

นายธนกร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นที่ภาครัฐสนับสนุนวงเงินรวมชำระไม่เกิน 800 บาทต่อคน 

 

โดยมีแผนการเริ่มดำเนินโครงการฯ รับสมัครประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม และประชาชนจะได้รับสิทธิวงเงินสนับสนุนและใช้สิทธิโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565

 

ทั้งนี้การดำเนินโครงการฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง เพิ่มอุปสงค์ในการบริโภค กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ เกิดการลงทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น 

 

คาดว่า จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มเติม 42,400 ล้านบาท GDP ขยายตัวร้อยละ 0.12 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการฯ