นโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือผู้สูงวัย

07 ม.ค. 2566 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2566 | 14:05 น.
542

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากดูงานจากประเทศไต้หวันและประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา ผมก็อยากจะนำเอาประสบการณ์ที่ได้ไปเห็นมา จากการช่วยเหลือของภาครัฐที่ส่งผ่านมาทางช่องทางต่างๆ ที่จะมอบให้แก่ผู้สูงวัยของประเทศตนเอง เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชากรส่วนน้อยที่แก่เฒ่าเหล่านี้ครับ
 

เราต้องยอมรับตามหลักประชากรศาสตร์ว่า ผู้สูงวัยของประเทศ เป็นกลุ่มคนที่เป็นส่วนน้อยของประเทศจริงๆ หากเปรียบเทียบกับประชากรวัยเด็กจนถึงวัยกลางคน เพราะผู้สูงวัยกว่าจะฟันฝ่าชีวิตมาจนกระทั่งเป็นผู้สูงวัยได้ ก็ต้องผ่านกาลเวลามามากกว่า 60 ปีขึ้นไปแล้ว และกว่าจะมาถึง 60 ปีได้ หลายๆ คนก็ต้องมีการล้มหายตายจากกันไป ด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และที่จากไปแบบไม่คาดฝันจากอุบัติเหตุก็มีอีกมิใช่น้อย ดังนั้นกว่าเราจะมีชีวิตอยู่บนโลกในนี้ได้นานขนาดนี้ จึงเป็นชนกลุ่มน้อยที่หลายคนอยากจะเป็นสมาชิกสมาคมผู้สูงวัยจริงๆ หรือใครไม่อยากเป็นก็ยกมือขึ้นได้เลยครับ
 

 

 

หลังจากที่เติบโตมาจนกระทั่งจบการศึกษามา แม้จะมีบางท่านที่อาจจะไม่ได้ผ่านสถาบันการศึกษาที่เป็นเรื่องเป็นราวมา ก็ต้องใช้เงินใช้ทองมาไม่น้อย จากนั้นเราก็ต้องเริ่มดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพ บ้างก็ประกอบวิชาชีพด้วยการเปิดกิจการของตนเอง บ้างก็ไปเป็นมือปืนรับจ้างมา แต่ทุกๆ ท่านล้วนแล้วแต่ต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐทุกท่าน ในอัตราส่วนที่อาจจะไม่เท่ากัน แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคลไป คนที่หาได้มากก็ต้องจ่ายมาก คนที่หาได้น้อยก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป ดังนั้นในความคิดของผม รัฐบาลได้เก็บภาษีไปแล้วหลายสิบปี พอเราแก่เฒ่าลง ไม่สามารถที่จะหาเงินหาทองได้แล้ว รัฐบาลเขาต้องดูแลเราเป็นธรรมดา 
 

อย่างไรก็ตาม การที่จะดูแลเราในฐานะผู้สูงวัยแบบนั้น แต่ละประเทศก็มีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ในประเทศไทยเราเอง ก็มีการดูแลมิใช่น้อย ไม่ใช่อย่างที่หลายๆ คนคิดว่า เลี้ยงดูแค่ให้เบี้ยคนชราเท่านั้น เพราะเบี้ยคนชรามีเพียงเดือนละไม่กี่ร้อยบาท รัฐบาลไทยแม้ว่าจะต้องนำเงินที่ได้จากภาษีของประชาชนไป เขาก็ต้องนำไปพัฒนาประเทศในหลายๆด้าน แต่ก็มีการเจียดเงินงบประมาณมาช่วยดูแลผู้สูงวัย ในรูปของการลดภาษีให้แก่ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งมีค่าลดหย่อนภาษีได้ดังต่อไปนี้
 

1.ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท 2.ค่าลดหย่อน 60,000 บาท  3.ค่าลดหย่อนเนื่องจากเหตุสูงอายุ 190,000 บาท 4.รายได้ส่วนแรก 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นหากมีรายได้ไม่เกิน 100,000 + 60,000 + 190,000 + 150,000 = 500,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเลยครับ
 

กฎหมายฉบับนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560 แล้วนะครับ หากท่านที่ต้องการทราบรายละเอียด ก็สามารถสอบถามไปที่สรรพกรเขต หรือนักบัญชที่ทำบัญชีให้ท่านได้เลย  แต่ผมก็เชื่อว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบ สรุปง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้านๆ คือ ใครได้รับบำนาญไม่เกิน 41,700 บาทก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเลยครับ

 

ในส่วนของการช่วยเหลือผู้สูงวัยของประเทศญี่ปุ่น เขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเช่นกัน แต่เขาไม่ได้ให้แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น เขายังให้ผู้ประกอบการบ้านพักคนวัยเกษียณด้วย โดยแต่ละจังหวัดก็จะมีการได้รับความช่วยเหลือไม่เท่ากัน อาจจะไม่ครบจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการบ้านพักคนวัยเกษียณ ดังนั้นส่วนต่างดังกล่าวตัวผู้สูงอายุเอง จะต้องสำรองค่าใช้จ่ายเองในบางส่วน แต่ก็ยังมีทางออกอื่นในการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่าย ในการที่ต้องจ่ายให้แก่บ้านพักคนวัยเกษียณอยู่ดี เพราะสังคมครอบครัวของที่นั่น ค่อนข้างจะแตกต่างจากสังคมในประเทศไทย
 

ทางออกดังกล่าวที่ผู้สูงอายุต้องทำ คือการซื้อประกันสำหรับการอาศัยบ้านพักคนวันเกษียณ ตั้งแต่ช่วงที่ตนเองยังแข็งแรงอยู่นั่นเอง นี่เป็นเพราะว่าสังคมผู้สูงวัยของเขา จะมาเร็วกว่าของไทยเราเกือบยี่สิบห้าปี ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทประกันฯของเขา จึงได้เริ่มขายประกันฯให้แก่ประชาชนมานานเกือบสามสิบปีแล้ว ส่วนในประเทศเราเอง บริษัทประกันฯต่างๆ ยังไม่ได้เริ่มขยับมาจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้เลย เพราะการซื้อประกันผู้สูงวัย กว่าจะได้ใช้เบี้ยชดเชยคืนให้แก่ผู้เอาประกัน อย่างน้อยต้อง 20-30 ปีไปแล้ว ดังนั้นต้องกล่าวว่า Timing อาจยังไม่ใช่ คงต้องรอให้บริษัทประกันฯตื่นตัวก่อน ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะอีกสัก 4-5 ปีข้างหน้า เราคงได้เห็นบริษัทประกันฯออกโปรแกรมโปรโมชั่นออกมาขายกันอย่างแน่นอนครับ
 

ในส่วนของไต้หวันเองก็เช่นกัน รัฐบาลเขาก็ออกมาดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน แต่เขาก็ไม่ได้ให้มากเหมือนอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามก็ยังดีกว่าประเทศเรานะครับ ในขณะที่ไต้หวันเอง บริษัทประกันฯใหญ่ๆหลายบริษัท ก็กระโดดเข้ามาสู่ตลาดของผู้เตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน ดังนั้นผมจึงเชื่อว่ากระแสของบริษัทประกันฯด้านนี้ต้องมาแน่นอนครับ
 

ในส่วนของงบประมาณที่รัฐบาลไทยเรา จัดสรรลงมาให้แก่ผู้สูงอายุ หากท่านผู้มีอำนาจมองเห็นว่า ผู้สูงวัยเหล่านั้น ในอดีตเคยร่วมด้วยช่วยกันในการจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลมาก่อน เคยเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลมาก่อน จึงจำเป็นต้องมีการตอบแทนกลับมาบ้าง เราอาจจะได้เห็นการช่วยเหลือที่ไม่ใช่เพียงแค่ลดหย่อนภาษี หรือไม่ใช่แค่เบี้ยผู้สูงอายุ หรือไม่ใช่แค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ก็คงน่าจะดีนะครับ เพราะตัวผมเองก็เริ่มเข้าสู่อารมณ์ของผู้สูงวัยแล้วเช่นกันครับ