บ้านพักประเภท Group House ของญี่ปุ่น

31 ธ.ค. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2565 | 13:14 น.
1.5 k

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของคอลัมน์นี้ ผมขออนุญาตอวยพรปีใหม่ปี 2566 ขออวยพรให้แฟนคลับทุกๆท่าน ขอจงประสบแต่ความสุข สมหวัง คิดสิ่งใดสมปรารถนาทุกประการนะครับ 


เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงการไปดูงานด้านบ้านพักสูงผู้วัยของประเทศญี่ปุ่น ผมขออนุญาตเล่าต่อจากอาทิตย์ที่ผ่านมานะครับ เพราะของเขาดีจริงๆ มีหลายเรื่องที่เราไม่ได้มีโอกาสได้เห็น หรือไม่เคยได้พบเห็นในประเทศไทยเรา 


ผมอยากให้ประเทศไทยเรามีวาสนาได้พบเจอบ้าง เพราะผมก็อายุมากแล้ว อยากมีวาสนาได้ใช้ในยามแก่เหมือนชาวญี่ปุ่นบ้าง คงจะดีไม่น้อยนะครับ

การไปดูงานวันที่สอง ผมได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนที่สำนักงานใหญ่ของเขา เสียดายที่ประธานบริษัทท่านไม่อยู่ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะใกล้ปีใหม่ เขาต้องเดินสายไปให้กำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา เราจึงเจอแต่ผู้บริหารระดับสูงของเขา เขาได้พากลุ่มของเราเดินเยี่ยมชมโครงการของเขา 


ซึ่งที่สำนักงานใหญ่ของเขา เป็นสถานที่รับผู้สูงอายุที่อยู่ในขั้นของ Long term Care หรือกลุ่มที่มีอาการเจ็บป่วยที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดนั่นเอง อาคารของเขามีทั้งหมด 5 ชั้น ในชั้นแรกของอาคารเป็นสถานแรกรับ ห้องประชุม ห้องครัวกลาง ห้องรับแขก และห้องพักผู้สูงวัยบางส่วน 


เขานำเราขึ้นไปเยี่ยมชมชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นที่รับผู้สูงวัยที่มีอาการป่วย และไม่สามารถเดินเหินด้วยตนเองได้ ต้องนั่งรถเข็น หรือไม่ก็นอนพักอยู่บนเตียงเสียเป็นส่วนใหญ่ น้องพยาบาลที่พาเราไปชมห้องสันทนาการ ต่อด้วยพาเราเข้าไปชมห้องปฏิบัติการของนักบริบาลและพยาบาล ที่เขาจัดให้เป็นห้องพักของผู้บริบาลอยู่ในนั้นด้วย 

ซึ่งจะมีคอมพิวเตอร์อยู่สองเครื่อง ในขณะที่ผมสังเกตดู ตั้งแต่ตอนเข้าไปในห้องสันทนาการ ที่มีทั้งผู้สูงวัยและบุคลากรทางการดูแลอยู่ ผมก็เห็นเขาถือเครื่องคอมพิวเตอร์ (iPad) ตัวเล็กๆ อยู่ในมือ คอยส่งสัญญาณไม่หยุด 


ส่วนที่หูของเขา ก็ใส่เครื่องช่วยฟังหรือ earphones ไว้ตลอดเวลา แต่พอเข้าไปในห้องปฏิบัติการ เราถึงรู้ว่าข้อมูลทั้งหมดของผู้สูงอายุ จะถูกจัดส่งมาเก็บเข้าสู่คอมพิวเตอร์ที่นี่ทั้งหมด จากนั้นก็จะรายงานไปให้บุตร-หลาน หรือญาติทราบได้ตลอดเวลาครับ 


ดังนั้นน่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้แก่บุตร-หลานเป็นอย่างดีเลยครับ ส่วนระบบของการทำ Reports ผมก็มีโอกาสได้เห็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จากการสอบถามคุณจินตนา ที่ท่านเป็นพยาบาลวิชาชีพมาตลอดชีวิตการทำงานที่ไปด้วยกัน เธอบอกว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าระบบจัดเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลเลย ข้อมูลบ่งบอกถึงรายละเอียดการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัยตลอดทั้งวันเลยครับ 
     


พอเดินผ่านไปที่ห้องผู้พัก ที่มีขนาดเล็กๆ ไฟส่องทางใต้เตียงก็จะทำงานทันที ตามที่เซ็นเซอร์สั่งการ เพื่อป้องกันการมองไม่เห็นของผู้สูงวัย เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ จะมีระบบการมองที่เสื่อมไปบ้างนั่นเอง อีกทั้งภายในห้องพักจะไม่มีห้องน้ำอยู่ภายในห้อง เขาจะทำห้องน้ำอยู่ข้างนอก 


โดยอยู่ข้างๆ ประตูห้องนอน เขาให้สองห้องนอนใช้หนึ่งห้องน้ำ ผมก็ถามว่า เหตุผลของการสร้างห้องน้ำไว้ข้างนอกห้องนอนเพราะอะไร? เขาตอบว่า เพื่อให้นักบริบาลเห็นการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ไม่เผอเรอหรือมองไม่เห็น โดยเฉพาะเวลากลางคืน ผู้สูงวัยมักจะตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำเสมอ ดังนั้นเขาจึงสร้างห้องน้ำไว้นอกห้องนอน วันนั้นเราดูงานกันจนเหนื่อยทั้งวันเลยครับ
         

วันรุ่งขึ้นทางบริษัทดังกล่าว ได้ส่งรถมารับพวกเราไปเยี่ยมชม Group House ซึ่งแรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจ นึกว่าเป็นบ้านเป็นกลุ่มๆ แต่พอไปเห็นถึงได้ทราบว่า เป็นบ้านสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอาการโรค 3 ประเภทด้วยกัน 


คือกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีโรคพาร์กินสัน ซึ่งกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่สมองของเขา ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก่อน จึงทำให้พอเข้าสู่วัยชรา อาการจะมากขึ้นเรื่อยๆ บางท่านมือไม้สั่นตลอดเวลา กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่มีโรคสมองเสื่อมหรือความจำเสื่อม แต่ยังไม่ถึงกับเป็นโรคอัลไซเมอร์ 


กลุ่มสุดท้ายก็เป็นกลุ่มอัลไซเมอร์นั่นแหละครับ Group House จึงเป็นจุดศูนย์รวมของผู้ที่มีความจำไม่ปกตินั่นเอง ในประเทศไทยเรา อาจจะไม่ได้มีผู้สูงวัยที่มีอาการเช่นนี้มากมายนัก ไม่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นเขา ที่มีปัญหาเยอะมาก  
          

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงวัยที่มีอาการทั้ง 3 โรคดังกล่าวเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะว่าสังคมของเขามีการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดสูงมาก จึงต้องดิ้นรนตั้งแต่การเล่าเรียนหนังสือกันอย่างเข้มข้น พอเข้าสู่สังคมทำงาน ก็ต้องแข่งขันกันสูงมากเช่นกัน 


การกดดันทางสังคมทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบทมีสูง จึงทำให้ทุกคนมีความเครียดสูงกว่าสังคมประเทศไทยเรา สังคมของเรายังสบายๆกันอยู่ ในสังคมชนบทของเรายิ่งไม่ต้องคร่ำเคร่งมากนัก จะมีแต่สังคมเมืองเท่านั้น ที่ต้องแข่งขันกันมาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดบ้านเมืองของเขาครับ
      

ผมก็คิดต่อนะครับ โรคภัยไข้เจ็บของบ้านเรา ที่พบมากในยุคนี้ น่าจะเป็นโรคมะเร็งกับโรคไตมากกว่า ในส่วนของโรคมะเร็ง คงต้องปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เขาไปสืบเสาะหาช่องทางในการรักษากันต่อไป แต่โรคไตนี่สิครับ น่าเห็นใจที่สุด เพราะต้องมีการฟอกไตกันเป็นประจำ บางคนก็อาทิตย์ละครั้ง มากหน่อยก็วันเว้นวัน 


ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ มักจะมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ต้องยอมรับว่าคนไทยเรามักจะติดทานหวานและทานเค็มกันเยอะ พอโรคภัยถามหา ก็วิ่งไปหาหมอตรวจรักษา ซึ่งก็ทานยาบ้างล้างไตบ้าง กลุ่มนี้จะต้องใช้เงินอย่างมากมายในการรักษาครับ ถ้าเราเป็นคนรวยที่มีเงินเยอะก็แล้วไป คือตายช้าหน่อย ถ้าไม่มีเงินก็จากไปอย่างรวดเร็วเท่านั้นแหละครับ  ถ้าประเทศไทยเรามี Group House ที่มาดูแลประชาชนกลุ่มนี้ ก็น่าจะดีนะครับ