Green Wedding: งานแต่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

30 พ.ย. 2565 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 19:18 น.
699

Green Wedding: งานแต่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,840 หน้า 5 วันที่ 1 - 3 ธันวาคม 2565

 

งานฉลองมงคลสมรส หรือ ที่เรียกกันว่า งานแต่งงานนั้น เป็นพิธีการอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า คนคู่หนึ่งตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยมีแขกในงานร่วมกันเป็นสักขีพยาน งานแต่งงานมีรูปแบบการจัดงานที่แตกต่างกันไปตามความประสงค์ของคู่บ่าวสาว หรือ ของผู้ใหญ่ และมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้จัดงาน มีตั้งแต่ในลักษณะที่เรียบง่าย ไปจนถึงงานที่ใหญ่โต จัดขึ้นในโรงแรมที่หรูหรา 

 

คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า บ่อยครั้ง งานแต่งงานถูกจัดขึ้นให้มีความใหญ่โตและหรูหราเกินความจำเป็น จากการศึกษาของ Flood และคณะในปี 2014 พบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา การจัดงานแต่งงานหนึ่งงานสร้างขยะถึง 400-500 ปอนด์ เทียบเท่าการปล่อยคาร์บอน 63 ตันสู่บรรยากาศเลยทีเดียว
 

 

ปัญหาขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของการจัดงานแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะจากอาหารและเครื่องดื่มที่มากเกินความจำเป็นจนต้องเหลือทิ้ง จากการศึกษาของ Sustainable Wedding Alliance ในปี 2021 พบว่าโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ของอาหารที่จัดไว้ในงานแต่งงานมักจะจบลงด้วยการถูกทิ้งลงในถังขยะ 

 

ชุดแต่งงานของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในงานแต่งงาน ในบางคู่จะมีการตัดชุดใหม่ขึ้นมาหลายชุด เนื่องจากบางคู่มองชุดเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของวันสำคัญในชีวิตคู่
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่หากพิจารณาดูแล้วชุดแต่งงานมักถูกตัดเย็บด้วยชนิดผ้า และวัสดุ ที่มีความฟุ่มเฟือย มีความหรูหราเกินชุดปกติที่ใส่ในชีวิตประจำวัน การตัดเย็บมักมีความประณีตและชุดมักมีราคาสูงเกินความจำเป็น การนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

Green Wedding: งานแต่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า นอกจากชุดของบ่าวสาวแล้วแขกผู้มาร่วมงานมักจะต้องมีการแต่งกายตาม dress code ที่ทางเจ้าภาพระบุไว้ในการ์ดเชิญ ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับแขกที่ต้องไปจัดหาชุดที่จะใส่ไปงานตามความประสงค์ของเจ้าภาพ

 

คุณผู้อ่านเคยประเมินหรือไม่ว่า ในตู้เสื้อผ้าของคุณ มีเสื้อผ้าจำนวนเท่าใดที่ซื้อมาเพื่อใส่ไปในงานบางงานเท่านั้น และไม่เคยนำมันกลับมาใส่อีกครั้งเลย

 

สถานที่จัดงานเป็นอีกองค์ประกอบ ที่ทำให้งานแต่งงานสมบูรณ์แบบ ห้องจัดงานอันกว้างขวาง หรือโบสถ์สวยๆ ที่มีการตกแต่งอย่างอลังการเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้บรรยากาศงานแต่งสมบูรณ์

 

แต่ในแง่ของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สถานที่จัดงานเหล่านี้ ย่อมต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟให้ความสว่าง หรือไฟสีต่างๆ เพื่อเพิ่มสีสัน และทำให้มีความลงตัวของบรรยากาศ เครื่องปรับอากาศที่ทำให้อุณหภูมิห้องเหมาะสมกับการจัดงานแต่งงาน และเครื่องใช้ไฟฟ้า อื่นๆ อีกจำนวนมากที่จะถูกใช้บนเวที

 

นอกจากนี้ การตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศในงานแต่งงาน เพื่อความสวยงาม หรูหรา หรือเป็นไปตามสไตล์ที่คู่บ่าวสาวชื่นชอบ เพื่อมุมถ่ายภาพสวยๆ มักมาพร้อมกับการใช้อุปกรณ์ตกแต่งแบบชั่วคราว ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ สร้างขยะมากมายเช่นกันทั้งประเภทขยะอินทรีย์ และขยะอนินทรีย์ เช่น ดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ดอกไม้ปลอม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเกินจำเป็น ไม่มีความยั่งยืน 

 

จากปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ประกอบผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบัน การจัดงานแต่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Eco-friendly wedding (Eco-wedding) หรือ Green Wedding นั้น เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก

 

โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ซึ่งพบว่าการจัดงานแต่งงาน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเป้าหมายของบ่าวสาวหลายๆ คู่

 

จากการศึกษาของ Phillips ในปี 2010 พบว่า รายได้จากการจัดงานแต่งงานแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในการจัดงานแต่งงานแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

หลักการที่สำคัญของ Green Wedding คือ ต้องคำนึงถึงหลักในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการใช้ทรัพยากร และพลังงาน โดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ในงานแต่งงาน โดยมีการเลือกใช้วิธีการ วัสดุ และองค์ประกอบต่างๆ ในงานแต่งงาน ดังต่อไปนี้  

 

การทำเหมืองแร่เพชร หรือ อัญมณี เป็นการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ซึ่งใช้ทรัพยากรและพลังงานมหาศาล เพื่อให้ได้เพชรเม็ดงาม แทนที่การซื้อแหวนวงใหม่ด้วยการนำแหวนมรดกจากครอบครัว หรือ ปรับแต่งแหวนวงเก่าให้มีความทันสมัยมากขึ้น จึงเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

 

สมุดเขียนคำอวยพร หรือ การ์ดเชิญงานแต่งงาน ควรทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษรีไซเคิล หรือ แม้กระทั่งการใช้การ์ดเชิญแบบ electronic หรือ การใส่ซองช่วยงานแต่งงาน แทนที่จะเป็นการนำเงินสดใส่ซองกระดาษ ก็อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการสแกน QR Code และโอนเงินให้เจ้าภาพ ก็เป็นการลดขยะ และเป็นทางเลือกที่เบียดเบียนทรัพยากรน้อยที่สุด

 

สถานที่การจัดงานแต่งงาน ควรคำนึงถึงที่ตั้งเนื่องจากการเดินทางของแขกผู้มาร่วมงาน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หากเลือกสถานที่ได้เหมาะสม ไม่ไกลมากนัก สามารถใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคลได้ ก็จะเป็นการช่วยลดมลพิษ และลดการใช้ทรัพยากรได้

 

นอกจากนี้ การจัดงานแบบกลางแจ้งในเวลากลางวัน เป็นอีกทางเลือกที่จะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นได้ สำหรับการตกแต่งสถานที่นั้น การตกแต่งด้วยวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือ การเลือกใช้ต้นไม้แทนดอกไม้ที่ต้องถูกตัดออกมา ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะสามารถยืดอายุการใช้งานของทรัพยากร นอกจากนี้การตกแต่งที่พอประมาณจะช่วยลดภาระในการขนส่งอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอีกเช่นกัน 

 

การเลือกอาหารและเครื่องดื่มให้พอเหมาะกับจำนวนแขกผู้มาร่วมงาน โดยไม่เผื่อในจำนวนที่มากเกินไปก็จะช่วยลดขยะประเภทอาหาร และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ พิจารณาดูแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โดยเลือกร้านที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีจากฟาร์มหรือแหล่งที่มีการทำการเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม

 

การเลือกใช้เครื่องแต่งกายที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือ การนำชุดเก่ามาปรับแก้เพื่อยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า เป็นทางเลือกที่จะลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

 

ชุดเจ้าสาว และ เจ้าบ่าว ที่มีความทันสมัยไม่จำเป็นต้องเป็นชุดที่อลังการที่ใส่ได้เพียงโอกาสเดียว แต่ควรเป็นชุดที่จะสามารถนำไปใช้ในงานอื่นๆ ได้อีก

 

รวมไปถึงของชำร่วยจากงานแต่งงาน สามารถให้เป็นของที่ระลึกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงได้ โดยการแจกของที่สามารถนำกลับมาใช้ซํ้าได้ ของที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน หรือให้ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตโดยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

สำหรับตัวอย่างของงานแต่งงานที่เป็น Eco-Wedding ในประเทศไทยนั้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างงานแต่งงานของ คุณนุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ คุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ที่จัดขึ้นในปี 2558 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค ที่ได้นำหลักการ Eco-Wedding ไปประยุกต์ใช้

 

ตัวอย่างเช่น เจ้าสาวเลือกใช้ชุดเจ้าสาวมือสอง เพื่อลดวัสดุในการตัดเย็บชุดใหม่ ในขณะที่ชุดแต่งงานของเจ้าบ่าว ตัดขึ้นใหม่แต่ออกแบบให้สามารถใช้ออกงานอื่นๆ ได้อีก

 

อาหารและเครื่องดื่มภายในงาน เน้นอาหารออแกนิกส์ที่ปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพของแขกที่มาร่วมงาน เครื่องดื่มเป็นนํ้าสมุนไพร แทนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

ในงานแต่งงานไม่มีการตัดเค้กแต่งงาน แต่เปลี่ยนเป็นการให้คู่บ่าวสาวปลูกต้นไม้แทน โดยเจ้าสาวให้เหตุผลว่า การมีครอบครัวก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ จำเป็นต้องอาศัยการดูแลและบำรุงรักษา

 

ขณะเดียวกัน นักดนตรีที่บรรเลงเพลงในงาน ล้วนเป็นผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั้งสิ้น นอกจากนี้เจ้าสาวต้องการเปลี่ยนการโยนช่อดอกไม้มาเป็นเมล็ดพันธุ์ใส่ถุงแทน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับได้นำไปเพาะปลูกต่อไป 

 

ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นประเด็นที่จะช่วยให้งานแต่งงานนั้น เป็นมีความมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ ลดการใช้พลังงาน และก่อให้เกิดความยั่งยืนได้ในท้ายที่สุด 

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณนนทพร คุขุนทด สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้