การฝึกสติ จิตบำบัด “โรคซึมเศร้า”

19 ม.ค. 2568 | 13:27 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2568 | 13:33 น.

การฝึกสติ จิตบำบัด “โรคซึมเศร้า” : Tricks for Life

“โรคซึมเศร้า” เป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยสามารถเป็นได้ในทุกเพศ ทุกวัย ถือเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการเศร้าเกือบทั้งวัน เป็นติดต่อกันนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่วมกับมีอาการหมดความสนใจ ในกิจกรรมที่เคยชอบทำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือตื่นเช้ากว่าปกติ รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย รู้สึกไร้ค่า หรือรู้สึกผิด สมาธิจดจ่อ หรือความจำลดลง ความสามารถในการคิดหรือตัดสินใจลดลง หากมีอาการรุนแรงก็อาจจะมีความคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าอาจเป็นไปได้ทั้งจากปัจจัยด้านพันธุกรรม ปัจจัยด้านความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม รวมไปถึงปัจจัยด้านบุคลิกภาพ และความสามารถในการจัดการกับความเครียด โดยแนวทางหลักของการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน ยังคงเป็นการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด

การฝึกสติ จิตบำบัด “โรคซึมเศร้า”

หนึ่งในการทำจิตบำบัดได้แก่การรักษาด้วยการฝึกสติในโปรแกรม mindfulness based cognitive therapy (MBCT) ซึ่งพบว่า วิธีการนี้ ใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือว่ามีการกลับกำเริบซ้ำของโรคซึมเศร้าหลายครั้ง

เพราะปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาวะซึมเศร้ายังคงอยู่ต่อเนื่องได้แก่ภาวะคิดวกวนเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านลบที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เรียกภาวะนี้ว่า rumination ส่วนการฝึกสติ(Mindfulness) จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ และสังเกตเห็นความคิดว่าเป็นเพียงความคิด และไม่จำเป็นต้องคิดต่อ ซึ่งจะทำให้ภาวะ rumination ลดลง

“การฝึกสติ” หมายถึงการฝึกรับรู้ร่างกายและจิตใจ ในปัจจุบัน ทีละขณะ โดยไม่ตัดสิน ซึ่งการอยู่กับปัจจุบัน จะทำให้ผู้ฝึกสติรู้ทันความคิดวกวนได้มากขึ้น ลดการคิดถึงเรื่องราวร้าย ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และไม่กังวลไปกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต

วิธีการฝึกสติ แบ่งเป็น 2 ลักษณะได้แก่

1. การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ได้แก่การสังเกต ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร การมีสติระหว่างเดินไปทำงาน การรับรู้ความหงุดหงิดเวลาไม่ได้ดั่งใจ รวมถึงการรับรู้ว่ามีความคิดวกวน หรือความทุกข์ในเกิดขึ้น

2. การฝึกสติในรูปแบบ เป็นการแบ่งเวลาว่างสักช่วงหนึ่งในแต่ละวันมาฝึกการนั่งสังเกตลมหายใจ (การนั่งสมาธิ) หรือฝึกซ้อมโดยการเดินกลับไปกลับมา(เดินจงกรม) การฝึกสติทั้ง 2 ลักษณะ มีความสำคัญและจำเป็น เพราะจะช่วยให้สติแข็งแรงและว่องไว ไม่เผลอจมไปกับความคิดหรืออารมณ์นานจนเกินไป

โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิดและความสามารถในการทำงานของผู้ป่วยและหากปล่อยไว้นานอาจจะรุนแรงจนถึงมีความคิดฆ่าตัวตายได้ การฝึกสติเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความคิดและอารมณ์ทางลบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตใจและสมอง และยังป้องกันการกำเริบซ้ำของโรคซึมเศร้าได้ด้วย

 

ขอบคุณ : โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital