ตรวจสุขภาพอย่างไร ให้เหมาะกับ “ผู้สูงวัย”

12 ม.ค. 2568 | 05:55 น.

ตรวจสุขภาพอย่างไร ให้เหมาะกับ “ผู้สูงวัย” : Tricks for Life

การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งจำเป็นในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะ “ผู้สูงอายุ” เพราะมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอยของร่างกายตามธรรมชาติ การตรวจสุขภาพเชิงป้องกันที่ครอบคลุมและเหมาะสมจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ยืนยาว

ความเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่อ่อนแอลง ระบบหัวใจที่ทำงานลดลง หรือสมรรถภาพสมองที่ถดถอย รวมถึงความไม่สมดุลของฮอร์โมน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงอาการสมองเสื่อมด้วย

ตรวจสุขภาพอย่างไร ให้เหมาะกับ “ผู้สูงวัย”

การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน จึงถือเป็นทางเลือกที่จะเข้ามาช่วยในการค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น ช่วยให้สามารถวางแผนดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ในระยะยาว ซึ่งข้อดีของการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน คือ เมื่อค้นพบปัญหาสุขภาพตั้งแต่ระยะแรก ช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ช่วยให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และวางแผนการดูแลสุขภาพระยะยาวได้ด้วย

ขณะที่โปรแกรมการตรวจสุขภาพเชิงป้องกันที่จำเป็น ได้แก่

1. การตรวจวิเคราะห์ระดับฮอร์โมน ฮอร์โมน เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ หรือฮอร์โมนความเครียด การตรวจระดับฮอร์โมนสามารถช่วยระบุปัญหาที่ซ่อนอยู่และวางแผนการฟื้นฟูได้อย่างเหมาะสม

2. การวิเคราะห์สารอนุมูลอิสระและสารพิษสะสม การสะสมของสารพิษในร่างกายและสารอนุมูลอิสระ เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งกระบวนการเสื่อมสภาพ การตรวจสุขภาพเชิงป้องกันจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ พร้อมนำไปใช้ในการวางแผนการล้างสารพิษและป้องกันปัญหาในอนาคต

ตรวจสุขภาพอย่างไร ให้เหมาะกับ “ผู้สูงวัย”

3. การตรวจดัชนีชีวภาพ (Biomarkers) และรหัสพันธุกรรม ดัชนีชีวภาพและข้อมูลพันธุกรรมในโปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ช่วยให้ทราบถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหรือโรคเรื้อรัง การตรวจลักษณะนี้ช่วยให้สามารถวางแผนดูแลสุขภาพได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ

4. การประเมินสมดุลของระบบร่างกาย สมรรถภาพของหัวใจ ระบบเผาผลาญ และสมดุลอื่นๆ ในร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนถึงสุขภาพโดยรวม การประเมินเหล่านี้ในโปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงป้องกันสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อรักษาสมดุลที่ดีของผู้สูงอายุได้

5. บริการให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการและการฟื้นฟูร่างกาย โปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงป้องกันที่ดีจะมีการให้คำปรึกษาจากผู้ชำนาญการด้านโภชนาการและแผนการฟื้นฟูสุขภาพเฉพาะบุคคล เพื่อช่วยให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม

รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมพา “ผู้สูงอายุ” ในบ้านไปตรวจสุขภาพกันนะคะ

 

ขอบคุณ : ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี)

 

คอลัมน์ Tricks for Life หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568