‘ภูมิแพ้’ โรคยอดฮิตของคนไทย

11 ก.พ. 2567 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2567 | 11:58 น.

‘ภูมิแพ้’ โรคยอดฮิตของคนไทย : Tricks for Life

“โรคภูมิแพ้” ถือเป็นโรคยอดฮิตของคนไทย เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ล้วนมีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้สูงขึ้น หากไม่รีบรักษาจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตที่ไม่คล่องตัว เช่น การทำงาน การเรียน รวมไปถึงภาวะง่วงนอนตลอดทั้งวัน เนื่องจากการหลับไม่สนิท

โรคภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง แมลงสาบ ควันบุหรี่ รวมถึงอาหารบางชนิดก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาหารทะเล นมวัว ไข่ แป้งสาลี และถั่วลิสง

‘ภูมิแพ้’ โรคยอดฮิตของคนไทย

โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย เช่น ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หรือทำให้เกิดโรคหืด มีอาการไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย หอบ หายใจมีเสียงหวีด ภูมิแพ้อาหารและยา ทำให้เกิดผื่นคันแบบลมพิษ หน้าบวม ปากบวม แน่นคอ

แน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ ความดันโลหิตต่ำและอาจเสียชีวิตได้ ภูมิแพ้ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดงคันเรื้อรั้ง ผิวแห้งลอก ส่วนใหญ่มักเป็นตามข้อพับแขนขาและลำคอ ภูมิแพ้ตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา เคืองตา ตาแดง ขยี้ยาเยอะ ตาบวม

การตรวจหาสาเหตุสารก่อภูมิแพ้ตรวจได้ 2 วิธี คือ

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) คือ การนำน้ำยาทดสอบภูมิแพ้ที่สกัดมาจากสารชนิดต่าง ๆ มาทดสอบที่ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อสารชนิดใดบ้าง สารที่ใช้ทดสอบเป็นสารที่พบว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อยๆ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า

การตรวจเลือดหาภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ (Serum Specific IgE) คือ การทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ โดยการเจาะเลือดหาภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด เช่น นม ถั่ว อาหารทะเล ขนสัตว์ เชื้อรา วิธีนี้จะต้องนำเลือดไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะใช้เวลาในการรอผลเลือดประมาณ 7 วัน โดยผู้ป่วยไม่ต้องงดทานยาแก้แพ้ก่อนเจาะเลือด ซึ่งการเจาะเลือด 1 ครั้ง สามารถหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด และมีความจำเพาะแม่นยำสูง

‘ภูมิแพ้’ โรคยอดฮิตของคนไทย

การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดเหมาะกับ ผู้ที่มีผิวหนังอักเสบมาก หรือมีผื่นลมพิษชนิด dermatographism, ผู้ที่เคยมีการแพ้อย่างรุนแรงต่อสารที่ต้องการทดสอบ เช่น เคยแพ้อาหารที่สงสัย หรือสารที่ต้องการทดสอบอย่างรุนแรงชนิด “ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน” ซึ่งการทดสอบผิวหนังแบบสะกิดอาจกระตุ้นให้มีอาการได้ขณะทดสอบ ดังนั้นการเจาะเลือดจึงเหมาะสมกว่า, ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ต่อเนื่องไม่สามารถหยุดยาแก้แพ้ได้ 7 วัน และสามารถทำในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้

สำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้ หลังจากที่แพทย์ทราบสาเหตุการแพ้ ก็จะรักษาตามอาการอย่างต่อเนื่อง เช่น ให้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, การให้ยาตามอาการเช่น ยาแก้แพ้รักษาอาการผื่นคัน ยาลดน้ำมูก ยาขยายหลอดลมแก้อาการหอบ แน่นหน้าอก

รวมถึงวิธีการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้ ต่อไปเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการ ซึ่งหากผู้ป่วยตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน ในระยะต่อมาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาประเภทอื่นอีกเลย

อย่างไรก็ตาม โรคภูมิแพ้เป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากสังเกตอาการตัวเองว่าเข้าข่ายโรคภูมิแพ้แนะนำให้มาตรวจหาสาเหตุ จะได้รับการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขอบคุณ : โรงพยาบาลเวชธานี

หน้า  15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,965 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567