ตรวจอาการ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ในสังคมไทย

06 ก.พ. 2566 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2566 | 07:59 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

วันนี้ผมขอหยิบยกการวิเคราะห์อาการของโรคสมองเสื่อมในสังคมไทยกับการตั้งรับทางนโยบาย ตอกย้ำภาพใหญ่ของประเทศในการรับมือกับภาวะโรคนี้ ยิ่งประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ผลที่ตามมาในแง่ความถดถอยทางสุขภาพหรือระบบอวัยวะต่างๆ หรือการแสดงภาวะอาการของโรคบางโรคก็ยิ่งเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ในปัจจุบันนี้ หนึ่งในบรรดาโรคที่มีความท้าทายต่อการรับมือ ทั้งในแง่ของการแพทย์และระดับนโยบายทางสาธารณสุข ก็คือ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งไม่ได้พบเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มคนวัยทำงานได้เช่นกัน ซึ่งหากท่านมีคนในครอบครัวที่ประสบภาวะโรคนี้

ท่านจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ต้องใช้ความเอาใจใส่และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบรรเทาภาวะของโรค และในทางการแพทย์เอง ก็ต้องใช้วิธีดูแลรักษาแบบองค์รวม ดังนั้น การวางนโยบายระดับชาติด้านการสาธารณสุขในโรคเฉพาะทางอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถรับมือกับภาวะของโรคนี้ พร้อมกับการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุได้

ตรวจอาการ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ในสังคมไทย

ดังจะเห็นได้จากสถิติทั่วโลก พบว่ามีคนประสบภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นทวีคูณตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของทุกๆ อายุที่เพิ่มขึ้น 6.3 ปี และถ้าดูสถิติเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Alzheimer Disease International (ADI) จากรายงานพบว่า จำนวนภาวะผู้ป่วยแรกเริ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ต่อปี โดยในกรณีของประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่า จะมีผู้ที่ภาวะสมองเสื่อม 1,117,000 คน ในปีพ.ศ. 2573 และจะเพิ่มเป็น 2,077,000 คน ในปีพ.ศ. 2593 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว ตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงกับสถิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ

ผมขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะสมองเสื่อม ที่มีการบริหารจัดการและผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ โดยมีการแบ่งกลุ่มประเทศที่มีแผนระดับชาติที่มุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมและเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ

ตรวจอาการ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ในสังคมไทย

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีแผนระดับชาติด้านภาวะสมองเสื่อมที่มุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยและเข้าถึงกระบวนการการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ฯลฯ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่มีปริมาณผู้ป่วยแรกเริ่มที่มีภาวะโรคสมองเสื่อมในอัตราเพิ่มมากกว่าทั่วโลกราว 15% ต่อปี

ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของทั่วโลกอยู่ที่ 9.3% ต่อปี และที่เกาหลีใต้ก็เริ่มกำหนดแผนระดับชาติว่าด้วยการรับมือภาวะสมองเสื่อม (National Dementia Plan) มาตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน โดยกลไกที่สำคัญก็คือ มีสถาบันทั้งระดับชาติรวมทั้งระดับท้องถิ่นที่ดูแลในหลายมิติ ทั้งการทำความเข้าใจภาวะอาการของโรคและแนวทางการป้องกัน

ตรวจอาการ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ในสังคมไทย

การสร้างความเข้าใจของคนรอบข้างและคนในครอบครัว หรือเรื่องการดูแลแบบ Day care และอีกสิ่งที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการเข้าถึงการวินิจฉัยตั้งแต่แรกเริ่ม พร้อมการลงทะเบียนและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็มีการลงทุนพัฒนาเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการร่วมวินิจฉัยภาวะดังกล่าว นับเป็นอีกก้าวของการให้บริการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจให้กับประเทศต่างๆ

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยของเรา ผมขอฉายภาพที่ฝั่งอุปทานด้านบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นส่วนสำคัญกับการรับมือภาวะของโรคดังกล่าวซึ่งเป็นการรับมือแบบปลายทางก่อน ตามข้อมูลของแพทยสภา พบว่า ตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปี 2565 มีจำนวนแพทย์เฉพาะทางทั้งหมด 44,497 คน ในจำนวนนี้ มีแพทย์เฉพาะทางในด้านประสาทศัลยศาสตร์ ทั้งหมดราว 700 คน

ซึ่งในแต่ละปี สามารถผลิตแพทย์ด้านนี้ได้ไม่ถึง 30 คนเท่านั้น (อ้างอิง: แพทยสภา, 2507-2565) นอกจากภาวะขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางแล้ว ในข้อเท็จจริงเอง ก็ยังมีเรื่องการดูแลแบบองค์รวม เช่น แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยของคลินิกดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องการการดูแลรักษาจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์สาขาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลเฉพาะทาง ฯลฯ ที่ยังมีความต้องการเป็นอย่างมาก

ตรวจอาการ ‘ภาวะสมองเสื่อม’ ในสังคมไทย

โดยเฉพาะพยาบาลเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมองและหลอดเลือด ซึ่งนอกจากจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยในโรคนั้นๆ แล้ว การเรียนการสอนที่เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมให้กับพยาบาลเหล่านี้ ก่อนนำไปสู่กระบวนการรักษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หากมีหลักสูตรเฉพาะทางพยาบาลในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการ ก็ยิ่งจะสร้างคุณูปการต่อการสาธารณสุขในบ้านเรา และเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับภาวะโรคที่ต้องการการดูแลรักษาแบบองค์รวมในอนาคต

ดังนั้นการมีแผนขับเคลื่อนในระดับชาติ การเข้าถึงกระบวนการการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และความรู้ความเข้าใจของสังคม จะนำไปสู่การชะลอภาวะอาการของโรคสมองเสื่อม และนำพาให้สังคมไทยก้าวไปพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็งต่อไป

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,858 วันที่ 2 - 4  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566