มะเร็ง..เรียนรู้ และรับมือ

28 พ.ย. 2565 | 05:51 น.
935

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นมะเร็ง เราจะรู้ดีว่ากำลังใจนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะนอกจากการรักษาทางกายแล้ว พบว่าการเยียวยาร่างกายและจิตใจหลังเข้ารับการรักษาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผมอยากชวนทุกท่านคุย ว่าด้วยคำ 2 คำ ก็คือ “เรียนรู้” และ “รับมือ” กับโรคมะเร็ง โดยเริ่มจากการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ที่นับเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่งมาหลายสิบปี แถมในอีกสิบปีข้างหน้า แนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นจนน่ากังวล

 

เรียนรู้เรื่องมะเร็ง: โรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย

 

จากผลการศึกษาล่าสุดในปี 2022 ของ Siemens Healthineers เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมะเร็งในปัจจุบัน โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ภูมิภาคอาเซียนจะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 40% โดยมากกว่า 75% ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง จะต้องเผชิญกับผลข้างเคียงหลังการรักษา และ 48% ของผู้ป่วยจะประสบปัญหาภาวะวิกฤตทางการเงิน และโรคมะเร็งก็ยังคงเป็นโรคอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยในประเทศไทย

Healthcare Insight

โดยมีคนเสียชีวิต 8 คนทุกชั่วโมง อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.26 ต่อปี โดยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ตามลำดับ และเมื่อตรวจสอบข้อมูลลึกลงไป จะพบว่าโรคมะเร็งบางประเภทมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรม หรือกระจุกตัวอยู่ในบางภูมิภาค เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบปรุงไม่สุก สะท้อนให้เห็นได้จากสถิติผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นต้น

            

ส่วนเรื่องเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ถือว่ามีความครอบคลุม ปรากฏอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ตามนโยบาย CANCER ANYWHERE โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้ารับรักษาได้ที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะอยู่ใกล้บ้าน ข้ามเขตหรือข้ามจังหวัดได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว อีกทั้งยังครอบคลุมทุกวิธีการรักษา เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ฯลฯ

 

รวมถึงการฟื้นฟูผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีบริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตามเกณฑ์ที่กำหนดและขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดความถี่ในการเดินทางมาโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง

Healthcare Insight              

หากเราย้อนกลับไปเรียนรู้โดยถอดบทเรียนในการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งในบ้านเราในระยะที่ผ่านมา คือ ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยจนกว่าจะทราบผลว่าชิ้นเนื้อดังกล่าวเป็นมะเร็งชนิดใด ถือว่าเป็นคอขวดของการรักษา และหลังจากวินิจฉัยเสร็จแล้ว ยังต้องเข้าคิวรอจนกว่าจะเข้าสู่ระบบการส่งต่อเข้ารักษาในสถานพยาบาลนั้นๆ
 

อาจมีผลทำให้อาการและระยะของมะเร็งทวีความรุนแรงและลดโอกาสความสำเร็จในการรักษาตามไปด้วย เมื่อเทียบกับปัจจุบัน จึงนับได้ว่า ระบบบริการสาธารณสุขด้านโรคมะเร็งของบ้านเรามีความยืดหยุ่นและครอบคลุมเรื่องการดูแลฟื้นฟูหลังเข้ารับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการให้บริการในโรงพยาบาลเท่านั้น

 

รับมือกับมะเร็ง : โรคที่ยังเผชิญสภาวะคอขวดในการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษา

 

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการมียีนมะเร็งเป็นผลกรรมที่ติดตัวมา แก้ไขอะไรไม่ได้ หรือไม่สามารถดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้ แต่ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน เราสามารถตรวจสอบยีนมะเร็งทางพันธุกรรมและโอกาสในการเกิดโรค ซึ่งช่วยทำให้เราหาทางป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ และลดความเสี่ยงของโรคได้

Healthcare Insight

ประกอบกับวิธีการรักษามะเร็งในปัจจุบันเป็นการรักษาแบบองค์รวม ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต จากจุดนี้ ผมอยากลองชวนคิดต่อยอดในประเด็นการเข้าถึงการตรวจ ซึ่งในปัจจุบันนี้ การตรวจมะเร็ง (Cancer Screening) ยังถือว่ามีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ

 

โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการทดลองโครงการนำร่องคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองที่บ้าน ในกลุ่มหญิงไทยอายุ 30-60 ปี โดยกระจายชุดตรวจกว่า 80,000 ชุด ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยทำให้การเข้าถึงการรักษาในโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มมากขึ้น และหากมองภาพรวม ก็นับว่าเป็นโมเดลต้นแบบในการรักษามะเร็งที่น่าสนใจทีเดียว 

 

อีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ การฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการเข้ารับการรักษามะเร็ง โดยจะเห็นได้ว่า เรามีเทรนด์การรักษาแบบสมัยใหม่ที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นโดยเฉพาะการพยาบาลแบบองค์รวม (Holistic Care) นอกเหนือไปจากการรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ป่วยยังได้รับการดูแลแบบครบทุกด้านของความเป็นมนุษย์ ประกอบกับการรับมือกับสถานการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทย ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือกที่มีความก้าวหน้าไปมาก ก็สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นด้วย

 

และคงจะดีไม่น้อย ถ้ามีสถานบริการด้านสุขภาพที่หลากหลายและครอบคลุมเรื่องของการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาโดยเฉพาะโรคมะเร็งที่มีความซับซ้อนและต้องการการดูแลเฉพาะด้าน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงในการเผชิญกับโรคนี้ในอนาคตต่อไป

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,838 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565