กว่าจะเป็น AI ทางการแพทย์ ; ความท้าทายวงการแพทย์

19 ต.ค. 2565 | 05:45 น.
520

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในปัจจุบันนี้ ทุกๆวินาที ข้อมูลต่างๆทางการแพทย์ได้ถูกสร้างและเก็บไว้ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผู้ป่วยไปจนถึงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือภาพจากการฉายรังสีด้วยเทคนิคประเภทต่างๆ รวมถึงภาพถ่ายจากกล้อง สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญ และอาจเป็นกุญแจสู่การดูแลรักษาโรค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย และด้วยข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นเหล่านี้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาคคลินิกและภาควิจัย ต่างต้องหาแนวทางเพื่อทำความเข้าใจและพิจารณาว่าจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการรักษาโรคหรือดูแลสุขภาพของผู้คนให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดอย่างไร

 

ผมยกตัวอย่างกรณีการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ให้ลองเปรียบเทียบข้อมูลช่วงเริ่มมีการระบาดกับข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกวงการแพทย์ต่างพยายามเร่งทำงานแข่งกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับทรัพยากรมนุษย์ที่มีจำกัดในการวิเคราะห์ข้อมูล และทดสอบสมมุติฐานต่างๆที่มีมากมายเหล่านี้ได้

กว่าจะเป็น AI ทางการแพทย์ ; ความท้าทายวงการแพทย์

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงได้เกิดการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบขึ้นมา เพื่อช่วยแบ่งเบาและแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ โดยปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ มีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยหรือประชากรคนไข้ทั้งหมด และทำหน้าที่ประมวล/วิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของโรคต่างๆ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง หรือ เบาหวาน เป็นต้น

 

โดยปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้อาจมีส่วนช่วยในการกำหนดแนวทางด้านสุขภาพเชิงป้องกันในระดับชุมชนหรือระดับประเทศ ไปจนถึงการแปลผลห้องปฏิบัติการ หรือภาพรังสีของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และสามารถพิจารณาและวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นับว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ล้วนสร้างประโยชน์และช่วยชีวิตมนุษย์ได้ไม่น้อยทีเดียว

กว่าจะเป็น AI ทางการแพทย์ ; ความท้าทายวงการแพทย์            

แต่ปัญญาประดิษฐ์จะทำงานได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่เป็นผู้สร้างและคัดสรรข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเหมาะสม ป้อนให้กับปัญญาประดิษฐ์และผู้ใช้งาน หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ปัญญาประดิษฐ์นั้น เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หนึ่ง การป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็เหมือนการให้อาหารที่มีประโยชน์ต่อการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ ส่วนผู้ใช้งานนั้น ก็ต้องเข้าใจความสามารถและขีดจำกัดของปัญญาประดิษฐ์ประเภทต่างๆ เช่นกัน เพราะเราไม่สามารถคาดหวังว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการได้

           

และเมื่อกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ แม้บุคลากรทางการแพทย์จะมีความเชื่อมั่นว่าปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทสำคัญต่อการแพทย์ในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อจำกัดในศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ในการทำหน้าที่บางอย่างแทนมนุษย์ ในมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์ ข้อจำกัดนี้จึงเป็นปัญหาหลัก

 

เมื่อการทำงานของของปัญญาประดิษฐ์เกิดความผิดพลาดและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วย เราไม่สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยหรือใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ แต่แพทย์เจ้าของไข้ต่างหาก ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย ตราบใดที่ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถเป็นเจ้าของไข้และรับผิดชอบชีวิตคนได้จริงๆ

กว่าจะเป็น AI ทางการแพทย์ ; ความท้าทายวงการแพทย์            

ดังนั้น มุมมองและทัศนคติต่อปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์จึงเป็นประเด็นสำคัญ โดยเราไม่ควรมองปัญญาประดิษฐ์เป็นสิ่งทดแทนสิ่งที่มีอยู่ แต่ควรมองมันเป็นเครื่องทุ่นแรง เช่นเดียวกับเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีโอกาสแสดงผลผิดพลาด (error) หรือผลหลอก ได้เช่นกัน

 

ท้ายที่สุดแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การให้ความสำคัญ รวมถึงการทำความเข้าใจและมีทัศนคติที่เปิดกว้าง จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565