กว่าจะเป็น AI ทางการแพทย์; 3 หัวใจตั้งต้น AI (ตอนที่ 2)

29 ต.ค. 2565 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2565 | 23:54 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ครั้งที่แล้ว ผมย้ำมุมมองและทัศนคติต่อปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ จึงเป็นประเด็นสำคัญ โดยเราไม่ควรมองปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) เป็นสิ่งทดแทนสิ่งที่มีอยู่ แต่ควรมองมันเป็นเครื่องทุ่นแรงเช่นเดียวกับเครื่องมือแพทย์ต่างๆที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน

 

ขณะเดียวกันต้องปลอดภัยกับทั้งผู้ใช้งานและผู้รับบริการ ฐานของข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ปัจจุบันมีจำนวนมากกำลังมาเติมเต็มให้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์สามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น และจะเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลรักษาโรคเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นในอนาคต

กว่าจะเป็น AI ทางการแพทย์; 3 หัวใจตั้งต้น AI  (ตอนที่ 2)        

ส่วนตั้งต้นของปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ คือเรื่องของถังข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพจำนวนมหาศาล หรือที่เรียกว่า Big Data ปัจจุบันกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลที่บังคับใช้ในบ้านเราเป็นส่วนสำคัญที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล บางท่านอาจจะมองเป็นประโยชน์สำหรับบุคคล ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล ส่วนตัวผมมอฝเป็นพื้นฐานสำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งรวมไปถึงข้อมูลด้านสุขภาพ นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลผลเพื่อต่อยอดในด้านของการรักษาต่อได้ในอนาคต

     

ในมุมมองผมเอง 3 สิ่งที่จะต่อยอดด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เกิดขึ้นในบ้านเรา ในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์คือ

              

1.Hardware (ฮาร์ดแวร์) ปัจจุบันในบ้านเรา แม้จะมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆบ้าง แต่อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ขณะที่ในแง่การเข้าถึงและใช้งานอุปกรณ์ไอทีในประเทศไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของการเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มโดยเฉพาะข้อมูลในแง่ของสุขภาพ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ซึ่งนโยบายภาครัฐและโครงสร้างการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาฮาร์ดแวร์ในบ้านเรา หรือการส่งเสริมการลงทุนซึ่งปัจจุบันหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นส่วนที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

        

2.Software (ซอฟต์แวร์) ในบ้านเราคือเป็นประเทศที่พัฒนาซอฟต์แวร์ หลากหลายประเภท ซอฟต์แวร์ที่จะนำไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย 2 เรื่องสำคัญคือ การใช้งานของซอฟแวร์ที่ควรต้องแก้ปัญหาให้มนุษย์ได้จริงจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต นั่นเป็นที่มาของบรรดา ‘ซุปเปอร์แอพ หรือ ซุปเปอร์ซอฟแวร์’ ที่คนใช้งานเป็นจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่จะต้องใช้งาน

 

อีกส่วนคือวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งในมุมมองผมการเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ดังคำกล่าวว่า “Garbage in, garbage out” หากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไม่สามารถใช้งานได้จริง ก็เปรียบเสมือนขยะข้อมูลที่ไม่สามารถเอามาใช้อะไรได้ ดังนั้นการติดกระดุมตั้งแต่เม็ดแรกจึงเป็นส่วนที่สำคัญของการเก็บรวบรวมข้อมูล จนนำไปสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

 

3.Peopleware (บุคลากรผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล) ทักษะที่สำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ คือการทำความเข้าใจกับปัญหา และใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหา เสริมการทำงานเพื่อช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งในมุมมองผมแล้วส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในบรรดาทุกส่วนที่จะเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญจนนำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริการแพทย์ได้จริง และปลอดภัยต่อผู้รับบริการ ซึ่งนี่คือส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาผู้ป่วย

              

ท้ายที่สุดแล้ว ผมย้ำว่าปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การให้ความสำคัญ รวมถึงการทำความเข้าใจและมีทัศนคติที่เปิดกว้าง จนนำไปสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆรองรับและการสนับสนุนจากภาครัฐ และความเข้าใจของประชาชนจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565