แพทย์.. ‘เดอะแบก’ ในสังคมสูงวัยของไทย

06 ม.ค. 2566 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 14:37 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ปี 2566 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทาย หากเรามองว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ก็อาจจะเรียกว่าสูงวัยเพิ่มขึ้นอีกปี และเมื่อนึกถึงการเข้าถึงระบบสาธารณสุขโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เปรียบเทียบกับในเมืองใหญ่ๆ ที่มีเครื่องมือทางการแพทย์เพรียบพร้อม เราจะเห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน

 

และยังสะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย ซึ่งผมมักได้ยินแพทย์แนะนำให้คนไข้พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ตัวของแพทย์เองแทบจะไม่มีเวลาปฎิบัติตัวตามคำแนะนำเหล่านั้นด้วยซ้ำ

              

ชีวิตของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ กับภาระงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะเดียวกัน แม้จะมีแพทย์จบใหม่กว่า 2,000 คน/ปี ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และแม้ว่าในปัจจุบันนี้ จะมีโรงพยาบาลเปิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับประชากรผู้สูงวัย โดยสังเกตเห็นหลายๆ โรงพยาบาลตามต่างจังหวัด มีการปรับห้องแคบๆ ทำเป็นวอร์ดเพื่อจุผู้ป่วยเป็นเท่าตัว วอร์ดบางแห่งมีผู้ป่วยเป็นร้อยคนแต่มีพยาบาลไม่ถึงสิบคน ภาระการดูแลก็หนักตามไปด้วย

 

แม้ว่าสถานที่บางแห่งอาจจะดูคับแคบและไม่สะดวกสบาย แต่การรักษาและการดูแลชีวิตของผู้ป่วยต้องมาก่อน และหากใครเคยไปใช้บริการโรงพยาบาลในพื้นที่เมืองรองที่ระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ อาจจะคุ้นตากับภาพเหล่านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคอีสาน ที่สัดส่วนจำนวนประชากรต่อแพทย์สูงมาก ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าแพทย์จะต้องมีภาระหน้าที่หนักมากเพียงใด

แพทย์.. ‘เดอะแบก’ ในสังคมสูงวัยของไทย

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของประเทศไทยมีความแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแพทย์ประมาณ 38,000 คน ขณะที่ประเทศอื่นที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับเรา มีแพทย์อยู่หลักแสนคน


และข้อมูลในปี 2564 พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยอยู่ที่แพทย์ 1 คนต่อการดูแลประชากร 1,680 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่เหมาะสม ควรอยู่ที่แพทย์ 1 คนต่อการดูแลประชากร 1,000 คน และจาก Agenda.co.th มีข้อมูลแยกรายจังหวัดที่น่าสนใจ

 

พบว่า จังหวัดบึงกาฬ มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 6,018 คน, จังหวัดหนองบัวลำภู มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 4,710 คน, จังหวัดกาฬสินธุ์ มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 4,081 คน ขณะที่จังหวัดที่แพทย์แบกรับภาระน้อยที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากรเพียง 515 คนเท่านั้น

              

ผมอยากชวนทุกท่านวิเคราะห์สถิติดังกล่าวนี้ไปพร้อมกัน จากข้อมูลข้างต้น พบว่ายิ่งจังหวัดห่างไกล ยิ่งมีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ที่สูง ขณะที่การสาธารณสุขทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มักจะกระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่ เพราะมีเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมกับการให้บริการด้านการรักษา แม้จำนวนของแพทย์จะมีความสำคัญ แต่คุณภาพและมาตรฐานด้านการแพทย์ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน 

              

ในขณะที่เรายังไม่สามารถเร่งผลิตแพทย์ให้ทันในระยะเวลาอันสั้น ผมขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการผลักดันด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศด้านการแพทย์ หรือ MedTech อย่าง Telemedicine หรืออุปกรณ์ IoT ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่างๆ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้กลไกนี้ ถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเร่งให้เกิดการกระจายการเข้าถึงทางด้านสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงได้ในระยะเวลาอันสั้น

 

อีกทั้งจะช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะโรคสมอง กระดูก หัวใจ ฯลฯ ทำให้แพทย์เหล่านี้ มีเวลาดูแลผู้ป่วยทั่วถึงมากขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเร่งการขยายบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานไปสู่พื้นที่ในต่างจังหวัด การสนับสนุนให้ภาคเอกชนกระจายการลงทุนไปยังจังหวัดเป้าหมาย จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

 

โดยการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนร่วมดูแลประชาชนในพื้นที่ ผ่านสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ์การรักษาต่างๆ ให้ครอบคลุมประชากรทุกระดับและทุกกลุ่มในสังคม เช่นเดียวกับที่เราสร้างกลไกในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่อย่าง Covid-19 อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้ชีวิตของคนไทยมีความมั่นคงด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจและสังคม

              

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผมไม่อยากให้เรามุ่งเน้นเฉพาะการเร่งเพิ่มจำนวนแพทย์และบุคลากร หรือโรงพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ระบบการส่งต่อเพื่อดูแลรักษา และกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยภาครัฐและภาคเอกชนสามารถประสานความร่วมมือในการสร้างกลไกเพื่อเชื่อมโยง ดูแลและส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้ป่วยมีความต้องการทางการแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้เข้าถึงเครื่องมือรวมทั้งลดอุปสรรคในการเชื่อมโยงการรักษาระหว่างสถานพยาบาลในทุกระดับ

              

และหากเรามองว่า Medical Hub มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย แต่ “โครงข่ายด้านการสาธารณสุข” นี่แหละ คือพระเอกตัวจริง ที่มีส่วนส่งเสริมให้การสาธารณสุขของไทยได้ไปยืนอยู่แถวหน้าของโลก และยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งยังคงรอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,850 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ. 2566