ESG และธุรกิจเฮลท์แคร์… CARE อย่างยั่งยืน (1)

10 ธ.ค. 2565 | 05:25 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในธุรกิจโรงพยาบาลหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพหรือเฮลท์แคร์ นั้น มิติด้านสังคม (Social) อันเป็นหนึ่งแกนหลักของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ “ESG” นับเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)

 

แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้งสามแกนหลัก Environment, Social และ Governance มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย เพราะความรับผิดชอบทั้งสามเรื่องนี้ ช่วยทำให้ภารกิจการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของโรงพยาบาลต่างๆ มีความยั่งยืนอย่างแท้จริงอีกด้วย

็Healthcare Insight

กุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โรงพยาบาลอย่างยั่งยืน

              

การดำเนินธุรกิจที่ยึดผลกำไรเป็นหลัก เป็นเป้าหมายที่ไม่สามารถนำมาใช้กับธุรกิจโรงพยาบาลหรือธุรกิจเฮลท์แคร์ได้ และแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม ก็ยังต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยในด้านการรักษา ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นที่ตั้ง ขณะที่การดำเนินธุรกิจก็ต้องดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วฟย

              

ผมขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับระบบการสาธารณสุขปฐมภูมิ (Primary Care) ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน คนไทยมีสิทธิเข้ารับการรักษาขั้นพื้นฐานตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่มุ่งสร้างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน โดยหากมีความเจ็บป่วยเล็กน้อย ก็สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีทั้งคลินิกในเครือข่ายและร้านขายยาที่เข้าร่วมกับ สปสช. และยังมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทาง

 

ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบนิเวศทางสาธารณสุข (Public Health Ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นต้นแบบให้กับประเทศ อื่นๆ ทั่วโลกนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ด้วย แม้การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นบริการขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีภาคเอกชนหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการ โดยมีภาครัฐร่วมดูแลค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน

 

รวมถึงสร้างทางเลือกในการให้บริการร่วม นอกจากนี้ ระบบดังกล่าว ยังได้รับการพัฒนาต่อยอดไปเพื่อสร้างหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกหรือศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยที่ดูแลรักษาโรคเฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรค NCDs ในอนาคตอันใกล้นี้ได้

 

ทั้งนี้ ระบบที่เอกชนมีส่วนร่วมดังกล่าว จะไม่สามารถดำเนินการอย่างประสบผลสำเร็จหากปราศจากความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือบรรษัทภิบาล (Governance) หรือหากกล่าวโดยสรุปแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลกับความโปร่งใสและการให้บริการและการรักษาที่คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยและชีวิตของผู้รับบริการเป็นที่ตั้ง เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์|ในทุกระดับ ให้ความสำคัญและยึดมั่นเป็นหัวใจหลัก

                                                 (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565