*** แม้ราคาหุ้นของ DELTA จะยังไม่ลงไปอยู่ในจุดต่ำที่สุด แต่การออกอาการ “ตกหลุมอากาศ” จนราคาหุ้นหลุดลงไปแตะ -30% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และยังคงลดลงเรื่อยๆ ก็ทำให้นักลงทุนหลายคนหันมามอง และเริ่มกังวลว่า จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ขาลงรอยใหญ่” ในแบบที่เรียกกันว่า “คอร์เนอร์แตก” ของหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นเบอร์หนึ่งของตลาดหุ้นไทยอย่าง DELTA ได้หรือไม่!!!
สัญญาณ “ขาลง” ของ DELTA สะท้อนผ่านออกมาจากหลายมุมที่พอจะรวบรวมได้มีดังนี้...
รายแรก เป็นมุมมองของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้ที่นักลงทุนหลายคนยกให้เป็น “ลูกพี่ใหญ่” การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ซึ่งได้พูดเอาไว้ไม่กี่วันก่อนหน้าที่ DELTA จะประกาศผลการดำเนินงานว่า
“สิ่งที่ทำให้หุ้นคอร์เนอร์แตกนั้น ที่มากที่สุดก็คือ การประกาศผลประกอบการที่ “น่าผิดหวัง” ซึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มว่า อนาคตก็จะยังไม่สดใสต่อ หรือในกรณีที่เลวร้าย ก็คือ ผลประกอบการจะแย่ลงอย่างถาวร หรืออย่างน้อยอีก 2-3 ปี ข้างหน้า”
แม้จะไม่ได้พูดถึง DELTA โดยตรง แต่เมื่อ DELTA แจ้งผลการดำเนินงานออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดเอาไว้อย่างรุนแรง โดยไตรมาส 4/67 มีกำไรสุทธิเหลือเพียง 2.15 พันล้านบาท ลดลง 64% จากไตรมาสก่อน และลดลง 54% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน
กลายเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสิ่งที่ ดร.นิเวศน์ พูดไว้อย่างไม่คาด และยิ่งถ้ากลับไปดูบทความเก่าๆ ของ ดร.นิเวศ ที่เคยพูดถึง DELTA ไว้เมื่อเดือนเมษายน ปี 2566 ที่ว่า “คิดว่าหุ้นตัวนี้น่าจะอยู่ใน Corner มองจากราคาหุ้นที่สูงมากเกินกว่าคุณภาพของกิจการ” อาจทำให้ตีความไปได้ว่า ดร.นิเวศ ได้กลิ่นแปลก ๆ ของหุ้นตัวนี้มานานแล้ว...
ต่อมาคือ มุมมองของ บล.กสิกรไทย ซึ่งได้ปรับลดราคาเป้าหมายของ DELTA จากเดิม 110 บาท ลงมาเป็น 74 บาท โดยระบุว่า ผลกระทบจาก Global Minimum Tax (GMT) และค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทแม่ที่สูงขึ้น ทำให้ประมาณการกำไร FY25F ลง 22% สู่ระดับ 18.7 พันล้านบาท โดยอิงจาก P/E 49 เท่า เนื่องจากมูลค่าปัจจุบันที่ P/E 55 เท่าถือว่าสูงเกินไปสำหรับการเติบโตของกำไรเพียง 4% ในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านลบจากข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อยอีกหนึ่งไตรมาส
อีกรายคือ บล.บียอนด์ ซึ่งได้ปรับลดราคาเป้าหมายของ DELTA จากเดิม 127 บาท ลงมาเป็น 70 บาท หลังปรับประมาณการณ์กำไรสุทธิช่วงปี 2025 –27 ลดลง 32%, 39% และ 43% ตามลำดับ
สะท้อนถึงรายได้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ และภาระภาษีผลกระทบจากการบังคับใช้นโยบาย Global Minimum Tax (GMT) ซึ่งจะเห็นผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 1/25 เพิ่มอัตราภาษีเป็น 15% ในปี 2025 และ GPM ลดลงเล็กน้อยที่ 25% จากเดิม 26–27% ถึงแม้บริษัทจะได้รับอนิสงค์การเติบโตจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI
อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับ DELTA Taiwan ซึ่งคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด
สำหรับเจ๊เมาธ์...เจ๊มองว่า ทั้งเรื่องของจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่ต่ำเกินไป เรื่องของอิทธิพลของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ที่ใหญ่เกินตัว จนกดดันให้ปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย ซึ่งชัดเจนที่สุดก็คือ วันที่ราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์ เพราะแค่ DELTA เพียงตัวเดียวก็มีอิทธิพลกดดันดัชนีหุ้นไทยถึงกว่า -30 จุด ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ “บิดเบี้ยว” อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ขณะเดียวกัน การที่ DELTA มักจะเคลื่อนไหวโดยหุ้นเทคอย่าง Nvidia และ Tesla ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทย ที่มี DELTA ซึ่งมีอิทธิพลต่อดัชนีหุ้น กลายเป็นต้องมาวิ่งตามราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ...ทั้งที่ไทยไม่ใช่ประเทศที่เศรษฐกิจหลักผูกโยงกับสินค้าเทคโนโลยีแต่อย่างใด ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น