*** หลังจากในวันจันทร์ที่ 3 ก.พ. 68 นักลงทุนหลายคนขนานนามว่าเป็น “แบล็คมันเดย์” เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเปิดการซื้อขายก็ปรับลดลงทันทีกว่า -43 จุด ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีหลังยุคการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เจ๊เมาธ์ได้รับรู้ถึงสัจธรรมที่ว่าการ “ดอยทั้งตลาดฯ” เป็นอย่างไร ...ทำไมทั้งที่ติดดอยอยู่แบบนี้ถึง “ยอมมอบตัว” ด้วยการขายขาดทุนกันง่ายๆ เช่นนี้!!!
อย่างแรก ถ้าจะว่ากันถึงปัจจัยในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้นเทคฯ ระดับ 7 นางฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตัวของ AI “เอื้ออาทร” อย่าง Deepseek จากค่ายจีน เรื่องนี้ก็ได้เห็นผลผ่านไปแล้วกว่าสัปดาห์ หรือ ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะมาตรการเก็บภาษีแคนาดา และ เม็กซิโก ขึ้นอีก 25% ส่วนจีนจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10% จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรงหรือไม่ ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก
แน่นอน...จะไปโทษว่า ตลาดหุ้นสหรัฐ “สับขาหลอก” ก็ไม่ได้ เนื่องจากตัวเลขดาวโจนส์ฟิวเจอร์ (Dow Jones Futures) ที่โชว์ตัวเลขติดลบกว่า -600 ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเปิดการซื้อขายนานถึง 5 ชั่วโมง เป็นเพียงตัวเลขอ้างอิงก่อนเปิดทำการ ของตลาดหุ้นสหรัฐ แต่
เมื่อ เม็กซิโก “ยอมจำนน” ต่อมาตรการขึ้นภาษีที่ว่า ก็ส่งผลให้ดัชนีหุ้น Dow Jones ที่ทำทรงว่า จะร่วงหนัก กลับปิดตลาดลงไปเพียง -122.75 จุด ในขณะที่ราคาทองที่ปรับขึ้นไปสูง ก็ปรับราคาลง ราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ถูกทิ้งก็กลับมีแรงซื้อกลับคืนมา
สรุปก็คือ ตลาดหุ้นไทยร่วมถึงตลาดหุ้นอื่นๆ เป็นเพียง “กระต่ายน้อยที่ตื่นตูม” เพราะถูกตลาดหุ้นสหรัฐ “สับขาหลอก” ก็น่าจะเรียกได้
ส่วนเรื่องที่สอง ซึ่งเจ๊เมาธ์มองว่าสำคัญที่สุด กลับเป็นปัญหาที่มาจากการที่ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยเด่น ขาดแรงดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา รวมไปถึง “สะสม” แต่ปัจจัยลบจนล้นเอาไว้หลายปี ส่งผลให้นักลงทุนเก่าๆ เริ่มที่จะหาทางถอย เพราะขาดทุนจนหมดตัว หรือ หมดทุน เพราะ “ถัว” จนไม่รู้ว่าจะต้องถัวกันอีกสักเท่าไหร่
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเชื่อมั่นที่หดหาย ที่ต้องการ การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมออกมาจากผู้คุมกติกา (Regulator) ของตลาดหุ้นไทย
ท้ายที่สุด ตลาดหุ้นไทยก็เปิดเผยจุดอ่อนให้เห็น หลังจากสารพัดปัจจัยลบรุมเร้ามานาน จนเมื่อมี “ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้” เข้ามากระทบก็ทำให้นักลงทุนไทยกระโดดหนีจน “แข้งขาหัก” ทั้งที่ยังไม่เห็นอะไรที่ชัดเจนอย่างที่เห็น...
ถึงตอนนี้เจ๊เมาธ์ก็ได้แค่หวังและให้กำลังใจว่า ผู้คุมกติกา (Regulator) รวมไปถึงภาครัฐที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือ จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมา เพราะหากไม่มีอะไรใหม่...ก็บอกได้ว่าอีกไม่นานพังกันทั้งตลาดแน่นอนค่ะ
*** บอกตรงๆ เจ๊เมาธ์พอที่จะเข้าใจและเห็นใจ CPALL ในกรณีที่ครอบครัวที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Seven & I (Seven & I holdings Co.Ltd) ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ชักชวน CPALL ในนามของ Charoen Pokphand Group (CP) มาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนเข้าซื้อกิจการโดยผู้บริหาร (management buyout) เพื่อป้องกันการฮุบกิจการ จากฝั่งของ Alimentation Couche-Tard หรือ Couche-Tard บริษัทค้าปลีกสัญชาติแคนาดา
เพราะหากว่า Seven & I ถูกซื้อไปแล้ว อาจเป็นเหตุให้ร้านสะดวกซื้อในชื่อของ 7-11 ทั่วโลก อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นซึ่งอาจส่งผลกระทบกับ 7-11 ที่อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของเครื่อง CP ก็เป็นไปได้...
แต่ก็อย่างว่า...เรื่องที่เจ๊เมาธ์บอกว่า เข้าใจ ก็เป็นคนละส่วนกันกับเรื่องของธุรกิจ!!!
ส่วนหนึ่ง... เป็นเพราะว่าด้วยลักษณะของบริษัทเครือ “เจ้าสัว” ที่บอกเลยว่า เล่นด้วยยากกกก!! เพราะนอกจากปันผลที่น้อยมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ก็ยังมีเรื่องที่ราคาหุ้น แทบจะไม่ขยับไปไหนไกลตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างที่สอง... อย่าได้ลืมไปว่าแทบจะทุกครั้งที่ CP เริ่มมีกำไรสะสมในมือ ก็จะมีการผ่องถ่ายออกไปสู่ธุรกิจอื่นในเครือ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อ MAKRO ในรูปแบบที่วนกันไปมาในกลุ่ม จนท้ายที่สุดก็จบลงที่การเพิ่มทุนเอากับผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่กรณีล่าสุดที่เข้าไปลงทุนต่อยอดธุรกิจในโครงการ “The Happitat” ก็อื้ออึงกันพอสมควรในตลาดทุน
หากทาง CP ตัดสินใจเข้าไปร่วมซื้อ Seven & I ก็มีความเป็นไปได้ ที่อาจจะตามมาด้วยการเพิ่มทุนเอากับผู้ถือหุ้นอีกรอบในท้ายที่สุด
ส่วนที่ว่าจะเป็นอย่างไร ...แค่ไหน อีกไม่นานก็คงจะได้รู้กันแล้วเจ้าค่ะ