อย่าให้การเมืองคุกคาม“เขากระโดง”

16 พ.ย. 2567 | 06:30 น.

อย่าให้การเมืองคุกคาม“เขากระโดง” : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,045

ที่ดินเขากระโดงลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 5,083 ไร่ จำนวน 995 ฉบับ หลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาโดยให้การรถไฟฯ (ผู้ฟ้องคดี) ร่วมกับ คณะกรรมการสอบสวนฯ ตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 กรมที่ดิน สรุปผล การรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ ไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิง เพื่อประกอบการนำชี้ โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ 

และยืนยันว่า ในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 ได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง และทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดิน ที่เป็นของการรถไฟฯ ตามกฎหมายทุกขั้นตอนแล้ว 

เรื่องนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ร้อนจนควันออกหู สั่งการให้ ผู้ว่าฯ รถไฟ ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินทันควัน พร้อมทั้งเดินหน้าสู้ต่อ ในชั้นศาลปกครองกลาง และยํ้าว่าไม่ยอมให้ที่ดินรถไฟหายไปแม้แต่ตารางวาเดียว 

ทั้งที่คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 2566 พิพากษาชัดว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯและสั่งให้กรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับการรถไฟ เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และคำพิพากษาของศาลฎีกา ปี 60 และปี 61 และศาลอุทธรณ์ภาค 3  ปี 63 คือเพิกถอนที่ดินเขากระโดง  แต่กรมที่ดินกลับมีคำสั่งไม่เพิกถอน  

และแวดวงสังคมมองว่า เขากระโดงปัจจุบันเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองบุรีรัมย์ และมีธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้น จำนวนมาก ทั้งสนามแข่งรถ สนามฟุตบอลขนาดใหญ่ โรงแรม ที่อยู่อาศัย ชุมชนขนาดใหญ่ และ เป็นที่ตั้งของบ้านใหญ่บุรีรัมย์ หากเพิกถอนแน่นอนการฟ้องร้องจะมาเป็นขบวน

งานนี้ทำให้สังคมเกิดเสียงอื้ออึงว่า กรมที่ดินถูกคลื่นแทรกจากกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ 

ร้อนถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงมหาดไทย ออกมา ยืนยันไม่มีฟอกขาว “คดีเขากระโดง” ไม่มีแทรกแซง และ ยอมรับว่า "ตระกูลชิดชอบ" มีที่ดินในเขากระโดง 300 ไร่ ซึ่งขอให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

แต่เท่าที่ฟังหลายเสียงทั้ง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม มีความเห็นว่า ที่ดินเขากระโดง ต้องยึดคำพิพากษาของศาล และต้องการให้ทั้งกรมที่ดิน และ การรถไฟ หันหน้าเจรจาร่วมกัน  

เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเลือกหยิบเอกสารหลักฐานคนละใบมาสู้กัน!!

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,045 วันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567