ธรรมนูญครอบครัวยังจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน

27 ก.ค. 2567 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2567 | 14:32 น.

ธรรมนูญครอบครัวยังจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจครอบครัว เป็นรูปแบบการเป็นเจ้าของธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยการมีส่วนร่วมในการเติบโตและเสถียรภาพของธุรกิจในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามการจะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนผ่านกาลเวลาจากรุ่นสู่รุ่นกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ด้วยปัจจัยต่างๆ 

เช่น การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของผู้ก่อตั้ง ขาดการฝึกอบรมให้กับคนรุ่นต่อไป สายการบังคับบัญชาแบบดั้งเดิม การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง บทบาทที่ไม่ชัดเจน ความขัดแย้งจากอีโก้ของคน การขาดวิสัยทัศน์และการวางแผน เป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกัน และขาดกลไกการแก้ไขข้อขัดแย้ง เป็นต้น มักส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจหยุดชะงักหรือล่มสลาย ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ ครอบครัวจึงควรพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อนที่อาจจะนำไปสู่ความแตกต่าง ความขัดแย้ง และการล่มสลายของธุรกิจได้

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกล้วนแนะนำว่าการกำกับดูแลครอบครัวจะช่วยส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการทำให้การดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ และธรรมนูญครอบครัว (family constitution) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแลครอบครัวที่จะช่วยให้การถ่ายโอนและการจัดการทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัวเป็นไปอย่างอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ธรรมนูญครอบครัวเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยึดตามจริยธรรม ค่านิยม ความต้องการ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว

ธรรมนูญครอบครัวยังจำเป็นหรือไม่ในปัจจุบัน

กฎเกณฑ์เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นแนวทางช่วยให้ครอบครัวสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ทรัพย์สิน การลงทุน และการใช้ความมั่งคั่งของครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์และค่านิยมร่วมของครอบครัว เหตุผลในการดำเนินและดูแลธุรกิจครอบครัว การบริหารและการเติบโตของธุรกิจครอบครัว การป้องกันทรัพย์สินของครอบครัวจากความเสี่ยงทางธุรกิจ 

เกณฑ์การจ้างงาน บทบาทของสมาชิกครอบครัวและการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กระบวนการตัดสินใจในเรื่องที่สนใจร่วมกัน เช่น การบริหารจัดการทรัพย์สินและการกระจายทรัพย์สินตามความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา กลไกในการออกจากสมาชิกครอบครัว/สาขาของครอบครัว และการแก้ไขความขัดแย้งหรือความไม่เห็นพ้องต้องกัน เช่น สิทธิการซื้อขายภายในครอบครัว  การประเมินมูลค่าทรพัย์สิน เป็นต้น รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับผู้นำและบทบาทของสภาครอบครัวในการตัดสินใจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

การมีธรรมนูญครอบครัวที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบและเขียนขึ้นมาอย่างดีจะช่วยให้สามารถจัดตั้งสภาครอบครัว (family council) บันทึกข้อตกลงของครอบครัวเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม การมีกองทุนทรัสต์ของครอบครัว และดำเนินการตามพินัยกรรมของสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้การวางแผนการสืบทอดกิจการมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้มีที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามาช่วยในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว 

เนื่องจากเอกสารนี้จะต้องครอบคลุมหลายด้าน มีความซับซ้อน ที่ปรึกษาที่เป็นกลางจะสามารถระบุปัญหาพื้นฐานที่ต้องได้รับการแก้ไข และช่วยให้เกิดการหารือที่มีความหมายระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้ นอกจากนี้ธรรมนูญครอบครัวยังเปิดทางให้มีสภาครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปจะดูแลการทำงานของสำนักงานครอบครัวและมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตย สภานี้เป็นคณะสูงสุดสูงสุดที่ประกอบด้วยสมาชิกผู้ใหญ่ที่เป็นตัวแทนของแต่ละสาขาของครอบครัว และเป็นเวทีให้ทุกส่วนของครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ธุรกิจครอบครัวจำเป็นจะมีพื้นฐานและแนวคิดที่ยึดมั่นในค่านิยมของครอบครัวและหลักการที่ได้รับการยอมรับ แต่เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จต่อไปได้ยาวนาน ครอบครัวต้องตระหนักว่าธรรมนูญครอบครัวที่ดีต้องสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพเศรษฐกิจโลกและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียด้วย ดังนั้นธรรมนูญครอบครัวจึงต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับปรุงได้ตลอดเวลาเพื่อให้ทันโลกอยู่เสมอเช่นกัน

ที่มา: Anju Gandhi, Jahnavi Dwarkadas & Avni Gupta.  January 10, 2023.  Family Constitution: The need of the hour.  Available: https://www.financialexpress.com/money/family-constitution-the-need-of-the-hour-2942482/