ส่องโรงแรมใต้ดินลึกที่สุดในโลก (1)

11 ก.ค. 2567 | 13:34 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2567 | 13:43 น.
1.8 k

ส่องโรงแรมใต้ดินลึกที่สุดในโลก (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4008

ท่านผู้อ่านคงมีโอกาสผ่านประสบการณ์ในโรงแรมหรูมามาก แต่วันนี้ ผมจะขอพาไปส่องโรงแรม InterContinental Shanghai Wonderland ที่ทรงเสน่ห์ระดับโลกกัน ล้ำขนาดไหนไปลุยกันเลยครับ ...

แต่เดิมผู้คนอาจรู้จักโรงแรมแห่งนี้ในชื่อเต็มยศว่า “Shanghai Sheshan Shimao Intercontinental Hotel” อย่างไรก็ดี เมื่อคราวที่ผมไปครั้งหลังสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2024 โรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งนี้ถูกปรับชื่อให้กระชับขึ้นเป็น “InterContinental Shanghai Wonderland” 

ขณะเดียวกัน โดยที่โรงแรมหรูแห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณหลุมเหมืองเก่า ที่ถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายปีบนภูเขาเทียนม่า (Tianma) ในอุทยานแห่งชาติเสอซาน (Sheshan) เขตซงเจียง นครเซี่ยงไฮ้ ผู้คนจึงอาจพูดถึงโรงแรมใต้ดินแห่งนี้ในนาม “เซินเคิงจิ่วเตี้ยน” (Shenkeng Hotel) ที่แปลว่า “โรงแรมหลุมลึก”

อันที่จริง เขตซงเจียงอาจไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก ปัจจุบันมีจำนวนประชากรราว 2 ล้านคน (7% ของเซี่ยงไฮ้) และมีขนาดพื้นที่ใหญ่ราว 600 ตารางกิโลเมตร (เกือบ 10% ของเซี่ยงไฮ้) โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ด้านการเกษตร 

ซงเจียง ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกของเซี่ยงไฮ้ โดยห่างจากใจกลางของนครเซี่ยงไฮ้ ราว 40 กิโลเมตร ท่านผู้อ่านที่สนใจไปเยี่ยมชมเมืองสามารถใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ในการเดินทาง โดยใช้ทางด่วน หรือรถไฟใต้ดินสาย 9 หรือจากสถานีรถไฟความเร็วสูง และสนามบินหงเฉียวก็ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น

เขตซงเจียง นับว่ามีประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ อาทิ เจดีย์สี่เหลี่ยมจตุรัส (Square Pagoda) สูง 8 ชั้น ที่มีอายุเกือบ 1,000 ปี และ เจดีย์ฮู่จู (Huzhu Pagoda) ที่ตั้งโดดเด่นบนเนินเขาเทียนม่า ห่างจากโรงแรมใต้ดินแห่งนี้เพียงอึดใจ 

คนท้องถิ่นจึงมักเรียกเจดีย์แห่งนี้ว่า “เจดีย์เอน” เพราะเจดีย์แห่งนี้มีมุมเอียงอย่างเห็นได้ชัด มากยิ่งกว่า “หอเอนปิซ่า” (Leaning Tower of Pisa) เสียอีก ซงเจียงจึงถือเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเซี่ยงไฮ้ 

ผมขอพากลับมาคุยเกี่ยวกับโรงแรมใต้ดินกันต่อครับ ในระหว่างการหารือเพื่อวางแผนการออกแบบก่อสร้างของกลุ่มซื่อเม่า (Shimao) ที่ได้รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบของหลุมยักษ์ดังกล่าวด้วย ทีมงานหลายคนมองว่า การกลบหลุมดังกล่าว และก่อสร้างโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์อื่นบนเนินเขาดังกล่าวเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด 

แต่ นายสวี หรงฮ่าว (Xu Ronghao) ประธานกรรมการ ซึ่งแหล่งข่าววงในระบุว่า มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนในปัจจุบัน อยากเก็บหลุมยักษ์แห่งนี้ไว้เพื่อเป็น “ภาพแห่งความทรงจำ” แก่อนุชนรุ่นหลัง จึงท้าทายทีมสถาปนิกและวิศวกรด้วยการคิดสร้างโรงแรมใต้ดิน

อย่างไรก็ดี หลายสิ่งก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เพราะหลุมยักษ์ดังกล่าวมีความลึกถึงราว 120 เมตร แถมยังเต็มไปด้วย “น้ำดำ” ที่ขังตัวมาหลายสิบปี 

นอกจากนี้ หากต้องการสร้างโรงแรมจากฐานรากที่ลึกลงไปขนาดนั้น ก็ต้องสูบและบำบัดน้ำเสียปริมาณมาก ขณะเดียวกัน ห้องที่อยู่ด้านล่างก็อาจขาดแสงอาทิตย์ ต้องเผชิญกับความอับชื้นและความกดอากาศ ซึ่งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งระบบไหลเวียนอากาศ และภาระค่าไฟฟ้าที่ให้ต้องการการส่องสว่างเกือบตลอดเวลา

และเมื่อมีฝนตก หรือ พายุเข้า โรงแรมก็จะต้องวุ่นวายกับการสูบน้ำออกให้ทันการณ์ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้พักอาศัยไม่สบายตัว และกังวลใจในความปลอดภัย แถมต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีจำนวนห้องที่มากเกินความจำเป็น

แต่ไฉนเลยจะเหนือความสามารถของสถาปนิกมือฉมังระดับโลกอย่าง Martin Jochman ที่มีผลงานในการออกแบบ Burj Khalifa อาคารที่สูงสุดในโลกที่ตั้งอยู่ใจกลางนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

ในท้ายที่สุด ทีมสถาปนิกจึงตัดสินใจเก็บผืนน้ำด้านล่างเอาไว้ส่วนหนึ่ง โดยรักษาระดับความลึกของแหล่งน้ำที่ราว 30 เมตร และก่อสร้างโรงแรมยาวจรดผิวน้ำ ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ โรงแรมใต้ดินแห่งนี้ จะดูเหมือนลอยอยู่บนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และล้อมด้วยทิวป่าไม้ด้านบน 

เนื่องจากการออกแบบไม่ต้องอาศัยฐานราก การก่อสร้างจึงปรับไปใช้วิธีการยึดตรึงแต่ละส่วนเข้ากับผนังหลุมลงจากตอนบนลงไปจนจรดผืนน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก 

ข้อมูลของโรงแรมระบุว่า ในทางปฏิบัติ ทีมงานก่อสร้างต้องแก้ไขมากกว่า 60 ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง และต้องอาศัยเทคนิคพิเศษมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็นำไปสู่การจดสิทธิบัตรด้านการก่อสร้างจำนวนกว่า 40 ฉบับ 

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนเกือบ 2,100 ล้านหยวน และใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 12 ปี ซึ่งหากเป็นกิจการขนาดเล็กที่มี “สายป่าน” ไม่ยาวพอ โครงการก็คงพับฐานไปก่อนแล้ว
โรงแรมนี้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 และคึกคักอย่างมากในระยะแรก เรียกว่าต้องจ่ายค่าห้องมาตรฐานในราคา 6,000 หยวนต่อคืน และรอคิวกันข้ามปีเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี หลังเปิดได้ราวปีเศษ จีนก็ประสบวิกฤติโควิด ทำให้โรงแรมใต้ดินสุดหรูนี้ต้องปิดให้บริการเป็นช่วงๆ และประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก 

                     ส่องโรงแรมใต้ดินลึกที่สุดในโลก (1)

แหล่งข่าวระบุว่า ในช่วงนั้น โรงแรมแห่งนี้ประสบปัญหา “ตัวแดง” กับธนาคารพาณิชย์เป็นเงินรวมกว่า 2,070 ล้านหยวน จนมีกระแสข่าวว่า เจ้าของโครงการเกือบ “ถอดใจ” ประกาศขายโรงแรมหรูแห่งนี้ในราคา 2,250 ล้านหยวนไปแล้ว

โรงแรมมี 2 ชั้นอยู่เหนือระดับพื้นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ล้อบบี้ พื้นที่พักผ่อน ห้องอาหาร และ ศูนย์การประชุม และอีก 16 ชั้นที่อยู่ใต้ดิน รวมจำนวน 336 ห้อง บนพื้นที่ก่อสร้างกว่า 61,000 ตารางเมตร รวมทั้งชั้นใต้ดินถัดลงไปที่เป็นห้องเก็บเครื่องปั้มน้ำขนาดใหญ่

โดยห้องพักชั้นที่ 1 นับจากระดับผิวน้ำ เท่ากับว่าชั้นที่ 16 อยู่ต่ำสุด ดังนั้น ตัวเลขชั้นห้องพักยิ่งมาก ยิ่งลงต่ำ ทำให้บางคนเรียกว่าเป็น “Upside Down Hotel” ท่านผู้อ่านลองทายดูว่า ราคาห้องพักที่อยู่ชั้นบน  หรือ ชั้นล่าง ที่มีราคาแพงกว่ากัน จะเหมือนหรือต่างจากราคาปลาหมึกบดที่แขวนเป็นชั้นๆ หรือไม่

แต่ละห้องพักมีวิวน้ำตกสูงที่ไหลลงจากหน้าผาฝั่งตรงข้ามที่สูง 88 เมตร และท้องน้ำขนาดใหญ่ที่ใสสะอาดทอดยาวอยู่เบื้องหน้า และรอบล้อมไปด้วยทิวต้นไม้ในสวนสาธารณะ และจุดชมวิวถายในอุทยานเสอซาน แถมยังใส่ใจกับประเด็นฮวงจุ้ย เพราะเมื่อมองจากด้านบน พื้นที่แห่งนี้มีลักษณะคล้าย “หยิน-หยาง” เพื่อหวังให้โรงแรมมีจุดเด่นทางด้านการออกแบบและการเล่าเรื่องราวที่มีอัตลักษณ์

ผู้บริหารโรงแรมบอกกับผมว่า ทีมงานพยายามสร้างประสบการณ์ร่วมแก่ผู้มาเยือนโรงแรมแห่งนี้ภายใต้แคมเปญ “Wow@Wonderland” 
ว้าวมากขนาดไหน ผมจะมาเล่าให้อ่านกันต่อในตอนหน้าครับ ...


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน