เมื่อเหนือท้องนภามีมังกรรำ

17 มี.ค. 2567 | 06:30 น.

เมื่อเหนือท้องนภามีมังกรรำ : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3975 

สหรัฐฯ ถือเป็นแชมป์สำรวจห้วงอวกาศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จัก “องค์การอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ” (National Aeronautics and Space Administration) หรือ ที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “นาซ่า” 

แม้กระทั่งฮอลลิวู้ดก็เอาคอนเท้นต์ มาทำเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง จนทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า “พญาอินทรีย์” เป็นเสมือนตัวแทนของชาวโลกในการฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ

 

แต่ในช่วงหลายปีหลัง เราเริ่มเห็นบทบาทของมังกรที่ออกมา “ร่ายรำ” ในห้วงอวกาศ จนหลายฝ่ายรู้สึกว่า จีนมีเทคโนโลยีด้านอวกาศทัดเทียมกับของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรแล้วในปัจจุบัน ...  

ในด้านหนึ่ง จีนกำหนดให้เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะรับไม่ได้กับการถูกกีดกันจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศโลก ดังจะเห็นได้จากการไม่อนุญาตให้เข้าร่วมโครงการสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อหลายปีก่อน 

ผลจากแรงกดดันดังกล่าว ยังทำให้จีนเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศอย่างจริงจัง และเริ่มปฏิบัติการอย่างแตกต่างและสร้างสรรค์ อาทิ การสร้างสถานีอวกาศของตนเอง การส่งยานอวกาศไปลงในด้านมืดของดวงจันทร์ การส่งยานอวกาศลงบนดาวอังคาร และการสร้างท้องฟ้าจำลองที่ใหญ่สุดโลกที่เขตหลินกั่ง ด้านซีกตะวันออกเฉียงใจ้ของนครเซี่ยงไฮ้

ในแง่ของโครงสร้างองค์กร รัฐบาลจีนยังได้จัดตั้งบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน จำกัด (China Aerospace Science and Technology Corp) เมื่อกลางปี 1999 เป็นองค์การหลักด้านการบินอวกาศแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการด้านอวกาศอย่าง “รอบด้าน” ของจีน

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การพัฒนา การผลิตยานอวกาศ ย่านปล่อย รวมทั้งระบบขีปนาวุธและอุปกรณ์ภาคพื้นดิน มากยิ่งกว่าภาระหน้าที่ของนาซ่าเสียอีก

ประการสำคัญ จีนยังทุ่มเทพัฒนาภารกิจด้านอวกาศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลแผนงานประจำปีที่ปรากฏใน “สมุดปกน้ำเงิน” ของ CASC ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ระบุว่า จีนวางแผนการปฏิบัติภารกิจอวกาศเพิ่มขึ้นจาก 67 ภารกิจ ในปี 2023 เป็น 100 ภารกิจในปีมังกร โดยในจำนวนนี้ CASC จะรับผิดชอบราว 70% ของภารกิจที่วางแผนไว้โดยรวม

จีนยังส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรเพิ่มขึ้น และสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มจาก 221 ลําในปี 2023 เป็นกว่า 290 ลำ ในปี 2024 ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนใช้จรวดตระกูลลองมาร์ชคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% และทั้งหมดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 จะมีหลายเที่ยวบินที่โดดเด่น อาทิ การเดินทางของลูกเรือ 2 ครั้ง และภารกิจขนส่งสินค้า 2 ครั้ง ไปยังสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) 

กระแสข่าวระบุว่า ด้วยความเอาจริงเอาจังและตารางภารกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี ก็ทำเอาทีมวิศวกร นักบินอวกาศ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนรูปแบบการฉลองเทศกาลตรุษจีน ในช่วงที่ผ่านมาเป็นลักษณะ “ทางไกล” แทน

เท่านั้นไม่พอ ทีมงานจีนยังคาดว่า ในเดือนพฤษภาคม 2024 จีนจะส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 (Chang'e 6) พร้อมหุ่นยนต์สํารวจไปลง “แอตเคน” (Aitken) พื้นที่หลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ในบริเวณขั้วโลกใต้ในด้านไกล (ด้านมืด) ของดวงจันทร์ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพื่อขุดเจาะตัวอย่างฝุ่นและหินของดวงจันทร์ประมาณ 2 กิโลกรัม เพื่อนำกลับมาทดสอบวิจัย

พร้อมกับเปิดตัว “เฉวเฉียง 2” (Queqiao 2) ดาวเทียมถ่ายทอดสําหรับการสื่อสารระหว่างด้านไกลของดวงจันทร์และโลก ในโอกาสเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นด้านไกลของดวงจันทร์ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากโลก (ดวงจันทร์ไม่หมุนรอบตัวเอง) 

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จีน ก็จะมีโอกาสวิเคราะห์ตัวอย่างฝุ่นและหินจากด้านไกลของดวงจันทร์ ข้อมูลเชิงลึกใหม่อาจทำให้มนุษย์เข้าใจได้ถึงความแตกต่าง ระหว่างด้านใกล้ และ ด้านไกลของดวงจันทร์ และเบาะแสเกี่ยวกับประวัติของดวงจันทร์ และพัฒนาการของระบบสุริยะ

นอกจากนี้ China Space News ยังรายงานว่า CASC มีแผนจะเปิดตัวยานอวกาศล้ำสมัย ที่สนับสนุนโดยจรวดตระกูลลองมาร์ช (Long March) ขนาดใหญ่อีกอย่างน้อย 4 ลําในปีนี้ และบางส่วนโดยชุดจรวดรองที่เรียกว่า “สมาร์ตดราก้อน” (Smart Dragon) ซึ่งเป็นดาวเทียมตรวจสอบความเค็มของมหาสมุทร

ไปจนถึงดาวเทียมตรวจจับวัตถุในห้วงอวกาศ (SVOM) ที่จีน และ ฝรั่งเศส ร่วมมือกันสร้างขึ้น 

มองออกไปสู่อนาคตข้างหน้า CASC ยังจะทุ่มเททำวิจัย พัฒนา และก่อสร้างยานอวกาศอีกกว่า 200 ลำ ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงยานอวกาศขนส่งลูกเรือรุ่นใหม่ ยานสํารวจดาวเคราะห์น้อย “เทียนเหวิน 2” (Tianwen 2) และ ดาวเทียมคุณภาพสูงอีกหลายดวง อาทิ ดาวเทียมเรดาร์ค้างฟ้า และ ดาวเทียมวิทยาศาสตร์อวกาศ “ฉือเจียน 19” (Shijian 19) ที่สามารถดึงกลับสู่โลกได้ 

                        เมื่อเหนือท้องนภามีมังกรรำ

จีนยังเตรียมเปิดตัวจรวด “ลองมาร์ช 12” รุ่นใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีการบินอวกาศแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Spaceflight Technology) ภายใต้ CASC  

ลองมาร์ช 12 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 3.8 เมตร เครื่องแรกของจีน ซึ่งจะมีสมรรถนะสูงที่สามารถยกยานอวกาศหนัก 10 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรต่ำ หรือ 6 ตันขึ้นสู่วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ที่ระดับ 700 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ การเปิดตัวลองมาร์ช 12 ในครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับจุดปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของจีน ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเหวินชาง (Wenchang) มณฑลไฮ่หนาน

จีนยังตั้งเป้าหมายที่จะส่งยานอวกาศ ลงจอดบนดวงจันทร์โดยลูกเรือของจีนก่อนปี 2030 และวางแผนเดินหน้าภารกิจการสํารวจห้วงอวกาศ และโครงการพิสูจน์ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอสไตน์ (Einstein Probe) ในอนาคต

นอกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านอวกาศชั้นนำของจีนดังกล่าว กิจการเอกชนจีน ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้กลายเป็นมหาอํานาจใหม่ ในอุตสาหกรรมอวกาศของจีน โดยในปีที่ผ่านมา กิจการเอกชนทำสถิติสร้างจรวดเพื่อใช้ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศรวม 12 ลํา

นอกเหนือจากความแม่นยำในการปฏิบัติภารกิจแล้ว จีนยังพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอวกาศในเชิงพาณิชย์ เราเห็นการนำเอาจรวด “กลับมาใช้ใหม่” ของจีนมากขึ้น การเพิ่มบทบาทของกิจการเอกชนในด้านอากาศ 

จากสถิติของ AI Media Consulting ระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี โดยประเมินว่า อุตสาหกรรมด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนในปี 2024 มีมูลค่าแตะระดับ 2.3 ล้านล้านหยวน 

จนหลายฝ่ายยอมรับว่า อุตสาหกรรมด้านอวกาศของจีนได้ก้าวเข้าสู่ “ระยะแรก” ในเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว และจะเติบโตในอัตราที่สูงต่อไปในอนาคต 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นจีน เดินหน้าสร้างสถิติใหม่ ในแง่ของจำนวน ระยะทาง และอื่นๆ ด้านการท่องอวกาศ จากนี้ไปอีกหลายปี จากนี้ไป มังกรกำลังจะออกร่ายรำทั่วท้องนภา และแสดงบทบาทนำในการปกป้องคุ้มครองโลกในอนาคต 

ผมจึงเชื่อมั่นว่า มวลมนุษยชาติน่าจะรู้จัก และได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติภารกิจของ CASC และ กิจการเอกชนด้านอวกาศของจีนมากขึ้น จนอาจลืม NASA ไปเลยในระยะยาว ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน