เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (1)

25 เม.ย. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2567 | 11:40 น.

เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3986

ก่อนหน้านี้ ผมพาไปรู้จักจีนในแนวคิดหลักที่กี่ยวกับ “น้ำ” มาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอู่เรือ หรือ การประมง วันนี้ ผมจะขยับไปยัง “อุตสาหกรรมเรือสำราญ” ที่กำลังกลับมาเฟื่องฟูในจีนอีกครั้ง ... 

ช่วงหลังเวลาเราถามเพื่อนฝูงว่า หยุดยาวนี้วางแผนจะไปเที่ยวที่ไหน เราก็มักจะได้คำตอบบางคนว่า มีแผนการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญอยู่บ่อยๆ

ในกรณีของจีน อุตสาหกรรมเรือสําราญเฟื่องฟูครั้งแรกในระหว่างปี 2008-2017 จัดได้ว่าเป็น “ทศวรรษทอง” ของจีน โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 50% ต่อปี ยิ่งในระหว่างปี 2013-2016 ตลาดจีนขยายตัวเฉลี่ยถึง 70% ต่อปีเลยทีเดียว 

แม้กระทั่งหนังสือเล่มหนาชื่อ “Cruise Ship Tourism” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ก็ยังระบุว่า ตลาดจีนเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของธุรกิจเรือสำราญ 

 

และจนถึงปลายปี 2019 (ก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด) จีนก็ถือเป็นตลาดการท่องเที่ยวเรือสําราญที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยเส้นทางจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ มีสัดส่วนคิดเป็นราว 85% ของตลาดโดยรวม แต่สถานการณ์กลับ “พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ” เมื่อการระบาดของเชื้อโควิดอุบัติขึ้น

เราได้ยินข่าวความวุ่นวายเมื่อผู้โดยสารและลูกเรือรวม 3,600 คนโดนกักตัวในเรือสำราญ “ไดมอนด์พรินต์เซส” (Diamond Princess) ที่จอดเทียบท่าเรือโยโกฮามา ญี่ปุ่น เพราะผู้คนบางส่วนติดเชื้อโควิด 

ขณะที่เรือสำราญ “เวสเตอร์ดัม” (Westerdam) ก็ต้องเปลี่ยนไปจอดเทียบท่าเรือสีหนุวิลล์ กัมพูชา เพื่อส่งผู้โดยสารขึ้นฝั่งหลังจากที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาะกวม ฟิลิปปินส์ และ ไทย ปฏิเสธการต้อนรับ 

ภายหลังช่วงเวลา 3 ปีแห่ง “ฝันร้าย” ของธุรกิจเรือสำราญทั่วโลก สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย เมื่อนานาประเทศทยอยเปิดให้ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน โดยจีนเปิดพื้นที่ให้เรือสำราญกลับมาเริ่มให้บริการอีกครั้ง นับแต่เดือนกันยายน 2023 ส่งผลให้ธุรกิจเรือสำราญระหว่างประเทศเริ่มกลับมามี “ความหวัง” อีกครั้ง

ตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของจีน และเอเชียในปี 2023 ที่ร่วมกันจัดทำโดยสถาบันธุรกิจเรือสําราญนานาชาติเซี่ยงไฮ้และมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์เซี่ยงไฮ้ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวทางทะเลของจีนในปี 2024 คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและอาจจะพุ่งเกินความคาดหมาย

การร่วมมือกันของผู้ประกอบการในตลาดเรือสําราญของจีน จะปลดปล่อยความต้องการและการบริโภค การกระจายตัวของบริการระดับพรีเมี่ยม และการปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ที่ครอบคลุมเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมมีชีวิตชีวาและเป็นสากลมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของจีนให้ความเห็นสอดคล้องกันโดยระบุว่า ปี 2024 จะเป็นปีที่ตลาดเรือสําราญของจีนฟื้นตัวอย่างแท้จริง และคาดว่าตลาดเรือสำราญของจีนจะกลับสู่ระดับปี 2019 ได้ภายใน 2 ปี

การคาดการณ์ดังกล่าวส่อเค้าเป็นจริง เมื่อตลาดในช่วงต้นปีมังกรพลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลของ “ฟลิ๊กกี้” (Fliggy) แพลตฟอร์มการเดินทางของจีนระบุว่า ในช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนปีมังกร อุปสงค์การเดินทางด้วยเรือสําราญทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศของจีน เพิ่มขึ้นถึง 445% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการฟื้นตัวของการเดินทางดังกล่าว ความต้องการบริการเรือสําราญและพฤติกรรมของผู้บริโภคก็แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งนําไปสู่โอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ตามมา
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้โดยสารใหม่มีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง และมีความต้องการด้านประสบการณ์ความบันเทิงที่แตกต่างมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่า บริการเรือสำราญต้องมีความหลากหลาย เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีช่วงอายุกว้างมากขึ้น

การก้าวสู่ “ยุคทอง” รอบใหม่นี้ จึงคาดว่าอุตสาหกรรมนี้ จะมีลักษณะที่แตกต่างจากของคราวก่อน คุณภาพเรือสำราญ เส้นทาง อาหารและเครื่องดื่ม บริการก่อน-ขณะ-หลังการเดินทาง และอื่นๆ จะถูกยกระดับควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือของผู้ระกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรม

ตลาดจีนในปี 2024 กำลังเป็นที่จับตามองของบริษัทเรือสำราญจากทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยผู้ประกอบการจีนก็เริ่มเข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นหลักในตลาดเรือสำราญของจีน หลังจากที่เคยปล่อยให้อยู่ในมือของผู้ประกอบการต่างชาติในยุคแรก

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญในวงการยังคาดว่า เราจะเห็น “ทางเลือก” การให้บริการล่องเรือที่มีคุณภาพสูง และหลากหลายมากขึ้น จํานวนผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และบริการที่หลากหลายขึ้นบนเรือสําราญที่จัดหาจากจีน

ข้อมูลจากสถาบันธุรกิจเรือสําราญนานาชาติเซี่ยงไฮ้ระบุว่า การมีส่วนร่วมของบริษัทเรือสําราญของจีน ซึ่งรวมถึงรายใหญ่อย่าง “อะดอราครูซ” (Adora Cruises) และ “ไชน่าเมอร์แชนต์ไวกิ้งครูซ” (China Merchants Viking Cruises) ไม่เพียงนําขีดความสามารถมาสู่ตลาดเรือสําราญของจีนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้เครือข่ายอุตสาหกรรมเรือสําราญโดยรวม ได้รับการปรับปรุงและพัฒนา

                       เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (1)

ภายหลังการต่อเรือยาวนานถึง 7 ปี จีนก็เปิดตัว “อะดอราแมจิคซิตี้” (Adora Magic City) ซึ่งเป็นเรือสําราญที่สร้างขึ้นในจีนลําแรก นับเป็นก้าวย่างสําคัญที่น่าตื่นตาตื่นใจสําหรับอุตสาหกรรมเรือสําราญของจีน ต่อเนื่องจากการเปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์ C919 และรถไฟความเร็วสูงเจนใหม่ก่อนหน้านี้ 

เรือธงลำนี้มีความยาว 323.6 เมตร กว้าง 37.2 เมตร สูงเท่าอาคาร 24 ชั้น มีระวางขับน้ำถึง 135,500 ตัน ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์มากกว่า 25 ล้านชิ้น และมีห้องพักจำนวน 2,125 ห้อง โดยออกแบบให้เป็นเหมือน “เมืองลอยน้ำ” ที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนเพื่อให้ผู้โดยสาร 5,246 คน รู้สึกเสมือนว่ากำลังใช้เวลาอยู่ที่บ้าน 

ภายในเรือแบ่งออกเป็น 16 ชั้น และมีพื้นที่สันทนาการกว่า 40,000 ตารางเมตร ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกชั้นนำมากมาย อาทิ ร้านอาหาร โรงเบียร์ และมุมเครื่องดื่มหลากหลายประเภทรวมกว่า 20 แห่ง ที่ออกแบบและเพียบพร้อมได้ด้วยอาหารและเครื่องดื่มสไตล์จีน 

ร้านค้าปลีกละลานตาที่เป็นแหล่งร้านค้าปลอดอากรลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดของจีน รวมไปถึงความบันเทิงแบบจีนผ่านโรงภาพยนตร์ การแสดงตลก ห้องเล่นไพ่นกกระจอก ห้องภาพงานศิลป์ โรงยิม สวนน้ำ และพื้นที่จัดกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ

เรือ Adora Magic City ยังเสริมด้วยนวัตกรรมด้านดิจิตัล อาทิ การติดตั้งเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายขั้นสูง พร้อมด้วยไวไฟ 6 (Wi-Fi 6) และบริการสัญญาณ 5G ลำแรกของโลก ซึ่งทำให้ผู้โดยสารบนเรือไม่ต้องหงุดหงิดกับการขาดตอนหรือล่าช้าในการสื่อสาร เพราะสามารถใช้งานเครือข่ายได้เหมือนอยู่บนฝั่ง

นับแต่เริ่มให้บริการเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 เรือ Adora Magic City ประสบความสำเร็จในการสร้างประสบการณ์ใหม่ในเส้นทางเซี่ยงไฮ้-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ แก่ผู้โดยสารในทุกรุ่นทุกวัยไปแล้วราว 20 เที่ยว บริการนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดปีมังกร 

การเปิดตัวแรงของเรือ Adora Magic City ส่งผลกระทบในเชิงธุรกิจในวงกว้างอย่างไร แล้วกิจการเรือสำราญต่างชาติรายใหญ่ กลับเข้ามาเริ่มให้บริการในตลาดจีนเมื่อไหร่ ส่งผลดีต่อพัฒนาการของอุตสาหกรรมเรือสำราญของจีนจริงอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ ตามไปอ่านต่อตอนหน้ากันครับ ...