นอกครอบครัว…อีกทางเลือกของการสืบทอดธุรกิจ

25 พ.ค. 2567 | 11:00 น.

นอกครอบครัว…อีกทางเลือกของการสืบทอดธุรกิจ : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

หลังจากใช้เวลาหลายทศวรรษในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เจ้าของธุรกิจมักจะพบว่ากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยากที่สุด นั่นคือการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับธุรกิจเมื่อตนพร้อมที่จะเกษียณ เจ้าของธุรกิจจำนวนมากส่งต่อธุรกิจให้กับครอบครัว แต่บางครั้งก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยอาจไม่มีสมาชิกในครอบครัวที่เหมาะสม

หรือบางทีลูกๆยังไม่โตพอที่จะรับผิดชอบได้ ที่จริงแล้วเจ้าของธุรกิจมีทางเลือกมากมายเมื่อถึงเวลาต้องคิดถึงการวางแผนสืบทอดธุรกิจ รวมถึงการหันไปหานักลงทุนหรือนายหน้าธุรกิจที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อหาผู้ซื้อที่มีศักยภาพหลากหลาย มุมมองเกี่ยวกับการสืบทอดธุรกิจครอบครัวและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นไว้ว่า

ทำไมต้องมองออกไปนอกครอบครัว จากการสำรวจของ Wells Fargo Wealth & Investment Management กับกลุ่มตัวอย่างเจ้าของธุรกิจในสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,008 ราย ในช่วงวันที่ 3-18 มกราคม ค.ศ. 2023 พบว่า 52% ของเจ้าของธุรกิจไม่ต้องการให้ลูกๆ เข้ามาบริหารและรับช่วงธุรกิจต่อจากตน

ซึ่งอาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้  และอาจไม่ได้เกิดจากความแตกต่างระหว่างรุ่นเท่านั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากพ่อแม่จำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ต้องการให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาในระดับวิทยาลัย และเลือกเส้นทางอาชีพที่พวกเขาสนใจด้วยตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งที่ธุรกิจครอบครัวก็ไม่ตรงกับความสนใจเหล่านั้น  

นอกจากนี้ยังพบการเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานทางสังคม คือความรู้สึกรับผิดชอบในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวของคนรุ่นใหม่ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนคนสมัยก่อน แต่คนรุ่นใหม่ต้องการทำตามเป้าหมายและสร้างมรดกของตัวเอง ดังนั้นหากพ่อแม่ต้องการทิ้งมรดกทางการเงินไว้ให้กับลูกๆ การมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากธุรกิจครอบครัวก็อาจช่วยลดความเสี่ยงให้กับครอบครัวได้ เพราะการเก็บเงินส่วนใหญ่ของครอบครัวไว้ในบริษัทเดียวอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีนัก

นอกครอบครัว…อีกทางเลือกของการสืบทอดธุรกิจ

หากเป้าหมายการสืบทอดธุรกิจหมายรวมถึงความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวด้วย เจ้าของอาจต้องการลดความเสี่ยงโดยการขายธุรกิจให้กับบุคคลที่สาม และนำรายได้ไปลงทุนในพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและลูกหลานในอนาคต และด้วยวิธีนี้มูลค่าของธุรกิจอาจยังคงส่งมอบให้กับครอบครัวต่อไปโดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

การตามหาเจ้าของธุรกิจคนใหม่ เจ้าของธุรกิจในปัจจุบันมีทางเลือกมากมายในการขายธุรกิจ ซึ่งอาจจะขายทั้งหมดหรือขายบางส่วนก็ได้ เช่น

บุคคลธรรมดา ผู้ซื้อที่ต้องการเข้ามาบริหารบริษัทด้วยตนเอง หรือขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการพัฒนากลยุทธ์การซื้อและสร้างธุรกิจต่อไป

บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล (Private Equity Firms) องค์กรหรือบริษัทที่ระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อลงทุนในบริษัทต่างๆ ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนอย่างมากในตลาด รวมทั้งนายหน้าธุรกิจและนักการเงินการลงทุนที่สามารถช่วยหาผู้ซื้อธุรกิจได้เกือบทุกขนาด

การซื้อกิจการโดยพนักงาน หากต้องการตอบแทนพนักงานที่มีความจงรักภักดี อาจพิจารณาแผนการถือหุ้นของพนักงาน (ESOP) ในการวางแผนสืบทอดธุรกิจ การให้พนักงานเป็นเจ้าของธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมดสามารถเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆได้ ผลประโยชน์ที่ว่านี้อาจรวมถึงส่วนแบ่งกำไร การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและความผูกพันกับธุรกิจ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้พนักงานมีแรงจูงใจมากขึ้น

              

ที่มา: Nicolas Gonzales.  2024.  What to Consider Doing with the Family Business When You’re Ready to Retire.  Available: https://conversations.wf.com/family-business-transition/

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,994 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567