ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวมักมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งค่อนข้างสูง ทั้งจากการแข่งขันในหมู่พี่น้อง (Sibling Rivalry) และความขัดแย้งทางอารมณ์อื่นๆ บางครั้งอาจทำให้การตัดสินใจมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งหนึ่งในการตัดสินใจที่ยากที่สุดคือ การเลือกคนมาแทนตำแหน่งของผู้ก่อตั้ง
โดยเฉพาะถ้ามีสมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนที่ต้องการตำแหน่งนี้ ยิ่งทำให้ต้นทุนความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวอาจสูงลิ่ว เช่นกรณีของ Reliance Industries ซึ่งผู้ก่อตั้งเสียชีวิตโดยไม่ได้แต่งตั้งผู้สืบทอดเอาไว้ก่อน ทำให้ลูกชายสองคนต้องต่อสู้กันอย่างหนักเพื่อตำแหน่งนี้ จนผู้เป็นแม่ต้องแยกบริษัทออกเป็น 2 ส่วนเพื่อรักษากิจการเอาไว้
ทั้งนี้นับเป็นเรื่องยากสำหรับหลายครอบครัวที่จะแยกธุรกิจออกจากเรื่องส่วนตัว มองเห็นทางออกท่ามกลางความสับสนทางอารมณ์ และตัดสินใจเกี่ยวกับการสืบทอดได้อย่างเหมาะสม ในรายงานการวิจัยเรื่อง Effects of Sibling Competition on Family Firm Succession: A Game Theory Approach ของ Shital Jayantilal และคณะ ที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2016 ได้พูดถึงทฤษฎีเกม (Game Theory) สามารถใช้ในการชั่งน้ำหนักต้นทุนและผลประโยชน์ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ของสถานการณ์ต่างๆ ในการสืบทอดกิจการ
และช่วยให้ทั้งผู้ก่อตั้งและผู้สืบทอดที่เป็นไปได้ สามารถเห็นได้ว่าแต่ละสถานการณ์จะให้ผลลัพธ์ต่อพวกเขาเป็นการส่วนตัวอย่างไร ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุด คือ ความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัวอาจขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนในการละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตัวไว้ข้างหลัง และร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ
การวิจัยทำการศึกษาผู้เล่นสมมุติ 3 คนในเกมการสืบทอด ได้แก่ ผู้ก่อตั้ง 1 คนและผู้สืบทอดที่เป็นไปได้ 2 คน โดยมีการกำหนดค่าทางคณิตศาสตร์ให้กับ 8 ปัจจัยที่สัมพันธ์กัน ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการสืบทอด ได้แก่
1) ทักษะความเป็นผู้นำ
2) การมุ่งเน้นครอบครัว
3) ระดับความสำคัญที่ผู้ก่อตั้งให้กับทักษะความเป็นผู้นำ
4) ระดับความสำคัญที่ผู้ก่อตั้งให้กับการมุ่งเน้นครอบครัว
5) ลูกแต่ละคนต้องการตำแหน่งผู้นำมากแค่ไหน
6) ระดับความสำคัญที่ลูกแต่ละคนให้กับทางเลือกอาชีพที่ดีที่สุดนอกธุรกิจครอบครัว
7) ต้นทุนทางอารมณ์ที่เกิดจากการแข่งขันในหมู่พี่น้อง
8) ต้นทุนในการเข้าร่วมคัดเลือกตำแหน่งผู้นำ (Cost of Running) ในด้านความยากลำบากและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
ทีมวิจัยได้พัฒนาแผนผังเกมที่ลงท้ายด้วยผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน 7 แบบสำหรับผู้เล่น 3 คน คือ ผู้ก่อตั้ง 1 คน และผู้สืบทอดที่เป็นไปได้ 2 คน ซึ่งเรียกว่าลูกคนโตและลูกคนเล็ก โดยเมื่ออ่านแผนผัง ผู้เล่นจะเห็นว่าความรู้สึกส่วนตัวและการตัดสินใจของตนในจุดสำคัญแต่ละจุดจะส่งผลลัพธ์ต่อพวกเขาอย่างไรในตอนท้ายที่สุด ข้อสรุปจากการวิจัย ได้แก่
แม้ว่าแคนดิเดตคนใดคนหนึ่งไม่ต้องการเป็นผู้นำ แต่แคนดิเดตอีกคนก็อาจตัดสินใจเลือกอาชีพอื่นนอกธุรกิจครอบครัวที่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งย่อมทำให้ความต่อเนื่องของธุรกิจครอบครัวตกอยู่ในความเสี่ยง
ยิ่งต้นทุนทางอารมณ์ที่ลูกต้องแบกรับในการแข่งขันกับพี่น้องสูงมากเท่าใด ก็ยิ่งลดโอกาสที่ลูกคนนั้นจะถูกเลือกเป็นผู้สืบทอด แม้ว่าจะเป็นแคนดิเดตที่ผู้ก่อตั้งต้องการเลือกจริงๆก็ตาม
การวิเคราะห์ผลลัพธ์ความร่วมมือของครอบครัวได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของผู้ก่อตั้ง ผู้ปฏิบัติงาน และที่ปรึกษาในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความสามัคคีระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยรับประกันว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวระหว่างรุ่นจะเป็นไปได้อย่างดี
ที่มา: Shital Jayantilal , Sílvia Jorge and Tomas M. Bañegil Palacios. October 24, 2023. Playing the Succession Game to Ensure Family Business Continuity. Availabe:https://familybusiness.org/content/playing-the-succession-game-to-ensure-family-business-continuity
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,984 วันที่ 18 - 20 เมษายน พ.ศ. 2567