จากชะลูดช้าง ถึงตะเลงเครงและโทงเทงฝรั่ง

10 ก.พ. 2567 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2567 | 10:55 น.

จากชะลูดช้าง ถึงตะเลงเครงและโทงเทงฝรั่ง คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ท่านผู้อ่านกรุณาทักถามจากฉบับก่อน ว่าดอกไม้ก้านซึ่งนำมาเปนเครื่องบูชาถวายพระบรมรูปกระเบื้องกังไส คือดอกอะไร ทำไมดูสวยแปลกตา 
 
ก็ต้องขออนุญาตประธานกราบเรียนว่า นี้เองคือ ดอก wax อันเปนต้นและดอกไม้นำเข้าจากเครือรัออสเตรเลีย ดอกแว๊กซ์นี้ มีความพิเศษคือ กลิ่นหอมสดชื่นอย่างกลิ่นต้นสนฝรั่งถือเอาว่าเปนดอกไม้แห่งความสำเร็จและรักที่ยาวนาน (lasting Iove) ใช้แทนการอวยพร ‘ขอให้รักกันไปนานๆ’
 
ฝรั่งเรียกต้น wax นี้โดยจริงจังว่า Chamelaucium-Chamelaucium Uncinatum ซึ่งมาจากคำสเปญว่าตะขอ ส่งนิยามความหมายถึงปลายแหลมของใบอันเพรียวพราว ลักษณาการแห่งมันไม้พุ่มยืนต้นสูง 2-4 เมตร ใบเล็กเรียวแหลมคล้ายกับใบต้นโรสแมรี่สีเขียวอ่อน ดอกมีขนาดเล็กประมาณ แค่ 2 ซม. กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายเคลือบด้วยขึ้ผึ้ง_แวกซ์ มีสีขาว ชมพูอ่อนชมพูเข้ม ม่วงออกดอกเปนกลุ่มที่ปลายกิ่งขยายพันธุ์ด้วยการ การเพาะเมล็ดและการปักชำ การดูแลไม่ต้องเยอะ เพราะชอบแดด รดน้ำไม่ต้องมากและใส่ปุ๋ยนานๆ ที ชอบดินปนทรายระบายน้ำดี

คำอวยพรจากต้น wax นี้ยังหมายให้เกิดความสำเร็จในชีวิตแต่งงานเปี่ยมสุขอีกโสตหนึ่งด้วย
 
ต้น wax นี้บางทีพูดกันแล้วสับสนกับชะลูดช้าง ซึ่งคำฝรั่งใช้ว่า wax เหมือนกัน ชั่วแต่ว่าชะลูดช้างมาจากมาดาร์กัสการ์ แล้วก็เปนไม้เลื้อย ออกดอกเปนพุ่มเปนพวงกลมดิก และมีลักษณะไขเคลือบพวงดอกเหมือนๆกัน
 
สัปดาห์นี้เดินทางมาเมืองตากและแม่สอด เพื่อว่าจัดการที่ดินมรดกท่านบิดาละแวกนี้ ที่เหล่านี้มีผืนหนึ่งใกล้น้ำตกท่าเลย์ เต็มไปด้วยดอกกระเจี๊ยบแดง สวยงามมาก ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ที่เมืองตากเรานี้เรียกกระเจี๊ยบว่า ‘ตะเลงเครง’ แน่ละว่าตะเลงนั้นคือคำเก่าแปลถึงว่า มอญ (ในแผ่นดินพม่าเวลาเดิมนั้น พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แกเปนพม่าลูกครึ่ง คือคุณแม่เปนมอญ บ้านอยู่ตองอู มีความประสงค์จะรวบรวมแผ่นดินให้เปนปึกแผ่น ก็ข้ามแดนไปเอาเมืองมอญหงสาวดี แล้วย้ายราชธานีไปอยู่นั่น) แต่จะบ่งความหมายถึงจำเพาะแต่มอญไม่นับพม่าอาจจะน้อยเกินไป

ครั้งหนึ่งไปกรุงย่างกุ้ง ไปกรุงหงสาวดี เขามีกับข้าวคือแกงจืดใบตะเลงเครงมาให้กิน เปนน้ำแกงกระดูกต้มใสๆใส่ใบกระเจี๊ยบตะเลงเครงสับรสเปรี้ยว หอมด้วยน้ำมันงาโรยหน้า พระสงฆ์องคเจ้ารูปเณรก็ฉันเมนูนี้มื้อเพลกันประจำ
 
ในขณะที่กระเจี๊ยบเขียว Abelmoschus esculentus หรือ Hibiscus  esculentus ฝักเรียวยาวและเปนเมือกลื่นนั้น กลับถูกเรียกโดยไทยภาคกลางว่ากระเจี๊ยบมอญ! สร้างความสับสนงุนงงเข้าไปใหญ่
 
ก็ขออนุญาตสันนิษฐานในฐานะนักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่นและเปนคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เมืองตาก/กาญจนบุรี ผืนป่าตะวันตกมานาน ว่าของมันแยกกันยาก ชาติพันธุ์กลืนกันใกล้ชิด กระเจี๊ยบแดงเปรี้ยวนั้นแท้จริงแล้วคนตากคงพยายามที่จะบอกว่าเป็นกระเจี๊ยบพม่า/ตะเลง ส่วนกระเจี๊ยบมอญสีเขียวเมือก ปรากฏในอาหารมอญเปนหลักก็ถูกแล้วที่คนภาคกลางจะเรียกกันว่ากระเจี๊ยบมอญ ในขณะที่มอญเรียกว่า กระต๊าด
 
เมนูของชาวมอญคหบดี ใช้ใบของกระเจี๊ยบแดงแกงกับฝักกระต๊าดเขียว โดยย่างปลา แกะเอาแต่เนื้อ โขลกกับพริกแห้ง หอม กะปิ เกลือ ละลายน้ำตั้งไฟ เด็ดกระเจี๊ยบเอาเฉพาะใบอ่อนใส่ลง นำกุ้งกับกระต๊าดหั่นลงหม้อ คนให้ทั่ว  ปรุงเค็มรสด้วยน้ำปลา เรียกว่าแกงกระต๊าด


 
อย่างไรก็ดีกระเจี๊ยบแดงนี้แทนที่จะนำต้มน้ำก็สมควรนำดอกและกิ่งก้านอันเป็นสีแดงสวยงามอย่างประหลาด นำมาจัดแต่งเป็นดอกไม้บูเก้ต์ ทำเปนไม้ประดับเหมือนอย่างต้นแว็กซ์บ้างคงจะมีประโยชน์มากขึ้นในทางมูลค่า
 
ไหนๆทุกวันนี้ที่ปากคลองตลาดก็มีรถรับดอกกุหลาบจากอำเภอพบพระ สุดเขตเมืองตาก วิ่งผ่านแม่สอด ท่าเลย์ เข้ากรุงเทพทุกวันอยู่แล้ว ก็ใคร่ขอวอนท่าน ฟลอริสต์/นักจัดดอกไม้ได้โปรดรับไว้พิจารณา
 
ออกจากท่าเลย์บ่ายโขแล้ว ขึ้นไปนอนที่แม่สอดบนถนนวกวนและลาดชัน หมอกลงหนาจัดเยือกเยือกๆ หวังใจว่าพักที่แม่สอดสักสองคืนค่อยตีรถลงเมืองตากแล้วขึ้นไปลำปาง ..นานมาแล้ว ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติเขียนเรื่องจบในตอนยามเมื่อไปใช้ชีวิตบั้นปลาย บุกเบิกและก่นสร้าง ‘บ้าน’ หลังสุดท้ายที่บนดอยโป่งแยงแขวงเมืองเชียงใหม่ ข้อเขียนของท่านรื่นเริงสนุกสนานในความเสียดสีถึงวิถีชีวิตไร่ป่าราวดอยที่ถูกวัฒนธรรมเชิงทุนนิยมฝ่ายเมืองหลวงรุกรานด้วยโลภ ชื่อผลงานรวมเล่มชุดนั้นชื่อว่า ‘กาดนัดบนดอย’ 
 
 
เช้านี้น้ำค้างแม่สอดลงหนา หมอกแม่ระมาดลงจัด ถนนหนทางลงดอยเข้าตัวจังหวัด จากด่านแม่ละเมา เข้าดอยรวก ก่อนจะถึงด่านแม่ท้อ ลาดชันคดเคี้ยวอยู่แล้วยิ่งต้องระมัดระวังเข้าไปใหญ่ ดีแต่ว่าได้รถขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา all time 4 wheels drive มาช่วยงานความเคร่งเครียดก็ผ่อนคลายกลายเปนสนุกบันเทิงกับละอองหมอกที่เเสนจะฉ่ำเย็น ให้ความรู้สึกเย็นชื่นอย่างสำเริงใจมากกว่าจะเยือกหนาว 
 
เเรกทีว่าจะไปกินโรตีแกงในสกุลแขกแม่สอด (กลิ่นอายเครื่องเทศยะไข่) ชั่วแต่ว่า เจ้าสุกี้ลูกชายเปนเด็กจีนไม่แฮปปี้กับกลิ่นมาซาร่า เลยตกลงว่าจะไปหาของเช้ากินกันที่ ‘กาดนัดบนดอย’ 

 
อันว่าเมืองตากนี้เปนเมืองที่อาจใช้คำว่าภาคเหนือตอนล่าง/ภาคกลางตอนบนก็คงได้ ผู้คนเมืองตากจึงยังคงเรียกกาดว่า ตลาด-ตลาดดอยมูเซอ
 
ดังได้เล่าท่านฟังแล้วในฉบับก่อนๆ ว่า บนดอยราบผาหน้าชันแห่งสนามการค้าผืนป่าตะวันตกนี้ ผู้คนทั้งหลายอยู่ร่วมกันผาสุขมานมนานโดยชาติพันธ์ุกลมกลืน ทั้งไทย แขก อาระกัน  จีน ฝรั่ง ม้ง เย้า กระเหรี่ยง กระหร่าง_มูเซอ


 
ก็แน่ล่ะว่ามูเซอ เปนชาวบนเขาเผ่าหนึ่งเหมือนกัน ว่าแต่ว่าปวงเขาต่างจากชาวดอยเหล่าอื่นอย่างไร?
 
มูเซอ นี้แปลตรงตัวว่า พรานป่า อันนี้เปนคำภาษาที่ชนชาติอื่นเรียกปวงเขาตามความชำนิชำนาญในการอาชีพ ถ้าต้องการคนนำทางในป่า ต้องการของป่าล่าสัตว์ มูเซอเท่านั้นจักเปนที่พึ่งพาได้ ในขณะที่มูเซอกลับเรียกตัวเองว่า ลาหู่ อันหมายถึงว่า-ผู้กินเนื้อเสือ บ่งนิยามความหมาย ผลลัพธ์ผลงานของผู้กล้าในการใช้ฝีมือแสวงหาของสูงส่งแลเสี่ยงภัยมาบำเรอปากบำรุงท้อง !
 
ตลาดมูเซอวันนี้คราคร่ำไปด้วยผู้คนพื้นราบ ขึ้นมาเสาะมาหาของดอยอร่อยปากเจริญตาหู 
 
ลูกโทงเทง(ฝรั่ง)_เคปกู้สเบอรรี่ ปลูกบนดอยนี้โตฉ่ำ
 
ลูกเนย_อะโวกาโด้ หลายสายพันธุ์ ทั้งเนื้อครีม เนื้อเหนียว ลูกโตๆ พันธุ์ยาวๆ ก็มี
 
ผักสดๆช่องามๆ โดยเฉพาะมะระหวาน ซาโยเต้ แล้วก็หัวบัวหิมะ ที่ลักษณะเหมือนรากบัวแต่รสชาติออกไปทางมันแกว
 
ลูกสตรอว์เบอรรี่ แดงสด รสอมเปรี้ยวอมหวาน ไหนจะลูกม่อนไข่ ละมุดอินเดียเนื้อเหนียว


 
ในเมื่ออากาศหนาวหมอก 16 องศาซีเปนใจอย่างนี้ มันก็ต้องออกช้อปปิ้งมาตั้งโต๊ะกิน อย่างแรกตามตำรานักเดินทางเก่าแก่ ท่านว่าในสายหมอกหนาวสะท้าน มันต้องจัดหาไข่ไก่ต้มสุกใหม่มาสักสองสามใบ ปอกแล้วไปหาเกลือป่นมาแนมโรย รับประทานกับน้ำร้อนจัดๆ และข้าวเหนียวนึ่งระอุไอ เคี้ยวหนุบหนับ จิบน้ำร้อนเข้าทีสองทีพอกระเพาะอุ่นแล้วมองยอดดอยฝั่งพม่าสูดอากาศฉ่ำชื่นให้เข้าปอด-ฮั่นแน่_ ความสุขลึกลับมาเยือนท่านแล้ว ใน วินาทีนั้น มันเปนความสุขสงบปนเรียบง่าย peaceful หรือมิใช่?
 
จานถัดไป คือ น้ำพริกหนุ่ม ที่ถูกต้อง บนกาดมูเซอนี้ มีเจ้าขาย ‘พริกหนุ่ม สี่เจ้า แต่ละเจ้าสีสันพรรณโนม ต่างกันไป สีเขียวล้วนสดใสอย่างมรกตนั้น ท่านว่านี่ล่ะใช่ขุมทรัพย์ที่ตามหา น้ำพริกหนุ่มที่ดี ต้องแห้ง และพริกเขียวสดหนุ่มต้องตำโดยเเล่นใบไม่เปนเส้นยาวยืดเละเทะแบบในกาดเวียง โดยเฉพาะที่เวียงเชียงใหม่ สำคัญคือต้องไม่เผ็ด! ของมันกำดัดเพิ่งเจริญวัยพริก จะไปทำให้แก่โยงยานกันทำไม
 
‘พริกหนุ่มที่แท้ รสนวล หนัดเนียน ปิ้งไฟยังไม่พอไหม้ก็เอาขึ้นตำได้ใส่หอมขาวคือกระเทียมเผา และเกลือเม็ดเท่านั้นพอ
 
รับประทานโดยชื่นชมในความมินิมอลแห่งรสธรรมชาติกับแคบหมูสามอย่าง อย่างแรกแบบทันสมัยไร้มัน มีแต่หนังฟูๆทอดมาใหม่ แบบสองดั้งเดิมหนังพองม้วนก้อนติดมันหนากรอบเค็มมัน แบบสุดท้ายล้ำสมัยเปนหมูกระจก! หั่นบางๆทอดกรอบกร๊วบทั้งหนังและมันหมู 


 
เช้านี้ขอยกของปรุงซับซ้อนอย่างไก่ทอด_ไส้อั่วพักไว้ก่อน แม้ว่าของเขาจะน่ากินยั่วปากก็ตามที
 
ด้วยว่าความมูเซอนั้นมันจะต้อง primate สักนิด อนึ่งว่า ร้านขาย ‘พริกหนุ่ม สำหรับท่านที่ชอบของเผ็ดมื้อเช้า ก็มี ขอให้เลือกร้านที่มีสีแดงของพริกแดงเจือในความเขียวมรกต ก็จะถูกใจ แหนมอย่างว่าแหนมหม้อใส่หนังหมูซอยหนาๆ สีชมพูจางๆ ก็เหมาะจะซื้อกลับบ้านทำหมกไข่ในใบตองสุมเข้าในกองเถ้าไฟระอุๆมื้อค่ำ รับประทานกับเครื่องดื่มขมฟอง มองไปในความมืดมิดแห่งราตรีดอยมูเซอคงจะมีความสุขมาก
 
เดิมที่ตลาดมูเซอนี้มีร้านรวงมากมายใช้ไม้ไผ่ลำโตสับฟากไผ่เกาะชายสันเขาเข้าไปในความเวิ้งว้างแห่งอากาศหนาว มีที่นั่งให้รับประทานอาหาร มีโรตี มีกาแฟ กินไปดูพระจันทร์ดวงโตกำลังลอยขึ้นฟ้าให้แสงนวลในวันเพ็ญ
 
จำเนียรกาลผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดสนธิกำลังเข้ามาขอคืนพื้นที่ ค่าที่ว่างานปลูกสร้างเหล่านั้นรุกล้ำก้ำเกินไปในป่าอันสงวน คงเหลือไว้แต่ตัวเพิงตลาดให้วางขายสินค้าพื้นเมือง ไม่มีร้านอาหาร ร้านข้าว ร้านโรตีให้ได้กินชมจันทร์กันอีกแต่อย่างใด


 
ดีขึ้นมาหน่อยก็คือ ทางการอนุญาตให้สร้างตลาดมูเซอแห่งใหม่ขึ้นบนถนนใหญ่สายเอเชียฝั่งตรงข้าม ลักษณาการไปคล้ายกับตลาดเดิมแต่ทันสมัยขึ้นมาหน่อยจำนวนผู้ค้าอาจจะน้อยลงบ้างแต่มีความสดใสมีร้านกาแฟใหม่ใหม่สวยๆ มีห้องน้ำบริการชั่วแต่ว่าร้านรวงประเภทร้านอาหารนั่งรับประทานก็ยังไม่มีเหมือนเดิม ถือว่าเป็นการแบ่งลูกค้ากันไป ผู้ใดขึ้นดอยจะไปแม่สอดก็แวะตลาดมูเซอแห่งใหม่ ผู้ใดขาล่องจากดอยจะเข้าเมืองตากก็ชิดซ้ายแวะตลาดมูเซอแห่งเก่า 
 
เช้านี้ได้อาโวคาโด พันธุ์แฮ็ช จากออสเตรเลียเนื้อเหนียวดี จึงตั้งวงของหวานประกอบด้วยกาแฟร้อนม็อกค่า ชาเขียวมัจฉะ มีดสวิสพกไปก็ได้ใช้ตอนนี้หั่นปอกลูกเนยสีเขียว โรยน้ำผึ้งเข้าหน่อยก็อร่อยรสเหลือหลาย ส่วนสตรอว์เบอร์รี่ลูกโตนั้นมีขนาดให้เลือก โตที่สุดขาย 120 มี 100 มี 80 มี 60 ขนาดเล็กใหญ่ลดหลั่นกันลงไปตามราคา บนดอยนี้ไม่มีวิปครีม อาศัยขอแบ่งนมข้นหวานจากบ้านกาแฟมาจิ้มกินเสริมรส ตบด้วยกาแฟไม่หวานถ้วยน้อยๆ แล้วค่อยจุดยามวนไปเดินชมต้นกล้วยไม้ชายป่า มูเซอดำคนนั้นหล่อนนำมาแขวน  สนทนาปะสาทะกับประดาแม่ค้าแม่ขายในตลาดจึงทราบว่า ผลไม้บางอย่างที่ดูสวยงามเช่นองุ่นมุสแคต ไม่ได้ปลูกที่นี่ แต่ยกลังซื้อมาวางขายจากตลาดชายแดนแม่สอด! 
 
ส่วนตลาดเก่านั้น แม้จะเก่าไปผู้ขายมีเยอะกว่าตลาดใหม่ทำให้เกิดการแข่งขันทางราคามากลูกค้าหาซื้อของได้ในราคาถูกเมื่อเทียบกับตลาดใหม่