อีก 4 วันก็จะถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเมียนมา เราในฐานะประเทศเพื่อนบ้านอันใกล้ชิด คงไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของเขาได้ แต่สิ่งที่เราต้องจับตามอง ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา เพราะแน่นอนว่าส่งผลกระทบมายังประเทศไทยเรา อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะชายแดนที่อยู่ติดกัน 2,400 กว่ากิโลเมตร ทำให้ประชาชนตามตะเข็บชายแดนของทั้งสองประเทศ ไปมาหาสู่กันเสมือนญาติมิตรกันมาช้านาน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต่างไม่เคยทอดทิ้งกันเสมอ จึงอยากจะนำเอาตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของประเทศเมียนมา มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ได้เข้าใจถึงบริบทของเขา ในช่วงสามปีอันยากลำบากที่ผ่านมาครับ
เริ่มจากช่วงปี 2564 ในขณะที่ประเทศเมียนมากำลังยากลำบากกับการจัดระเบียบสังคม ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 8 พฤศจิกายนของปี 2563 ก็ได้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นบนโลกเบี้ยวๆของเรา ทำให้เมียนมาต้องฝ่าฟันเจ้าวายร้ายโควิด-19 ระลอกที่ 2 ด้วยความยากลำบาก การค้าชายแดนในยุคนั้น ตัวเลขทางการค้าหายไปอย่างน่าใจหาย เพราะประเทศเมียนมาไม่ได้มีความแตกต่างประเทศอื่นเลย เขาต้องทำการล็อกดาวน์ เพื่อทำการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง อีกทั้งในประเทศเมียนมาเอง การสาธารณสุขพื้นฐานของเขา ยังไม่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ดังนั้นด้านการค้า-การลงทุนของเขา จึงมีปัญหาหนักกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังปี 2564 อย่างไม่ต้องสงสัย
ในช่วงจังหวะนั้น แม้จะมีการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้า ก็ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งโดยปกติแล้วทุกๆประเทศไม่ว่าที่ไหน ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็จะมีการสร้างเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เป็นเพราะประเทศเมียนมาในช่วงนั้น ได้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้การท่องเที่ยว การผลิตสินค้า และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทั้งหมดหดหายไปอย่างสิ้นเชิง โรงงานหลายๆแห่ง ต่างต้องช็อตดาวน์ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามปกติ เพราะSupply ทางด้านแรงงานก็หดหายไป เกิดจากความเกรงกลัวเจ้าวายร้ายโควิด ที่ปลิดชีวิตประชาชนไปมากมายนั่นเอง เศรษฐกิจที่อ่อนแอเช่นนี้ จึงได้ส่งผลต่อเนื่องมายังปี 2564 พอเข้าสู่โหมดของการเปลี่ยนแปลง ที่ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดลงไปลึกๆว่าใครเป็นอย่างไร? หรือฝ่ายไหนผิด-ฝ่ายไหนถูกนะครับ เพราะเรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว ต้องว่ากันในวันข้างหน้าดีกว่า ไม่ต้องไปมองย้อนหลัง ให้รัฐบาลเมียนมาและประชาชนเมียนมาไปว่ากันเอาเอง เราคนข้างบ้าน ต้องหุบปากไว้จะดีที่สุดครับ
เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเกิดความระส่ำระสายภายในประเทศเมียนมา ผู้คนออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อประท้วงรัฐบาล ทำให้การปราบปรามเกิดขึ้น ผสมกับทางนานาประเทศตะวันตก ที่ในอดีตเคยจับตามองประเทศเมียนมา ด้วยสายตาเป็นมันมาช้านาน ทำให้การลงทุนในเมียนมา ที่เคยมีตัวเลขหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ หายไปชั่วพริบตา นักลงทุนที่เคยมีแผนจะเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมา ต่างหัวหดตดหายกันไปหมด สถาบันการเงินต่างๆที่เคยให้ความช่วยเหลือประเทศเมียนมา เช่น ธนาคารโลก สำนักงานส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือที่เรารู้จักกันในนาม JICA ความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงธนาคารพัฒนาประเทศเอเชีย หรือ ADB ต่างก็เรียงแถวกันระงับเงินช่วยเหลือทั้งหมด ส่งผลให้กระแสเงินสดในประเทศเมียนมาเริ่มสั่นคลอนครั้งใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศเมียนมา(Local Bank) ต่างมีปัญหาด้านการดำเนินกิจการแทบทั้งสิ้น อีกทั้งการประท้วงของฝ่ายต่อต้าน ที่พร้อมใจกันถอนเงินไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ทำให้ปัญหาลุกลามกันใหญ่โต ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าโลจิสติกส์เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบด้านการผลิตอื่นๆ ทำให้ราคาสินค้าภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลจ๊าดเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามมา จากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ที่ 1,350 จ๊าดต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ ถูกกลไกทางการเงินทำให้ต้องปรับสูงขึ้นเป็น 1,700-1,800 จ๊าดต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของประเทศเมียนมา เกิดปัญหาขึ้นมาทันที
ขณะเดียวกันนั้น การค้าชายแดนของไทย-เมียนมา ก็เริ่มมีปัญหามากขึ้น เพราะเหตุผลของเจ้าวายร้ายโควิด-19 เราเองก็ต้องระวังตัวเรา การเดินทางและส่งสินค้าข้ามแดนในช่วงนั้น ผมได้เดินทางไปด่านชายแดนหลายๆด้าน ล้วนแล้วแต่มีปัญหาแก้ไม่ตกกันทุกด่าน เราก็ได้แต่มองตากันปริบๆเท่านั้น ซึ่งทางด้านด่านชายแดนของอินเดียและจีน ก็มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านชายแดนจีน-เมียนมา ที่เขาได้ใช้นโยบายควบคุมอย่างเข้มข้น หรือที่เรียกว่า “Zero Covid” ของจีน ทำให้การค้าชายแดน แทบจะเป็นศูนย์ไปในพริบตาเลยครับ ยิ่งพอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของปีนั้น ได้เกิดการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ตามมา ยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ที่ก่อนหน้านั้นก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งหนักลงไปอีก ช่วงนั้นตามรายงานของธนาคารโลก GDP ของประเทศเมียนมาติดลบไปมากถึงร้อยละ 18 การนำเข้าและส่งออก หดตัวลงกว่าร้อยละ 26 อัตราแลกเปลี่ยนเริ่มขยับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การเบิกถอนเงินในธนาคาร ก็ไม่สามารถเบิกถอนได้เป็นปกติ ทำให้คนมีตังค์เริ่มเป็นทุกข์ เพราะเงินที่จะเบิกถอน หรือการซื้อ-ขายสินค้าในท้องตลาด เริ่มไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนเวียน การชำระเงินค่าสินค้าทำได้เพียงการโอนเงินทางธนาคาร เงินสดไม่มีใครยอมนำมาชำระให้ จะมีเพียงคอนซูมเมอร์หรือผู้ซื้อปลายยอดสุดเท่านั้น ที่ยอมชำระด้วยเงินสด ซึ่งก็ทำให้เกิดการช็อตเงินสดในตลาดซื้อ-ขาย ถ้าเป็นภาษาทางเศรษฐศาสตร์ ผมเองก็ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนว่า จะใช้คำนิยามของสถานการณ์เช่นนี้ว่าอะไร? ส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะมีเพียงคำว่า “หลุมดำทางเศรษฐกิจ” เท่านั้น ที่จะใกล้เคียงสถานการณ์ในช่วงนั้น ถ้าอาจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านใด ที่ได้อ่านบทความนี้อยู่ ท่านจะกรุณาให้คำนิยามถึงสถานการณ์เช่นนี้ เรียกว่าสภาวะอะไร? กรุณาสอนผมด้วยจักเป็นพระคุณอย่างสูงครับ
นี่ยังไปไม่ถึงไหน แค่ปี 2564 เท่านั้นยังไม่จบถึงปี 2566 เลยนะครับ หน้ากระดาษก็หมดเสียแล้ว คงต้องขออนุญาตต่ออีกในอาทิตย์หน้านะครับ เรื่องนี้เป็นหนังชีวิตจริงๆ ถ้าอธิบายหรือสาธยายไม่หมด คงมองไม่เห็นภาพนะครับ “จะทานอาหารให้อร่อย ต้องใจเย็นๆ”นะครับ