ด่านสิงขร...อีกหนึ่งทางเลือกในอนาคตของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา

25 ธ.ค. 2566 | 04:30 น.
770

ด่านสิงขร...อีกหนึ่งทางเลือกในอนาคตของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในสถานการณ์อันวุ่นวายในประเทศเมียนมา ทำให้การค้า-การลงทุนในประเทศมีปัญหามากมาย ดั่งที่ผมเคยวิเคราะห์ในบทความนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ทางประเทศไทยเราก็ไม่ได้นิ่งดูดาย เราต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 20-22 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ ท่านทูตพานิชย์ไทยประจำประเทศเมียนมาท่านเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ก็ได้นำทีมผู้ประกอบการไทยขึ้นไปเมืองมัณฑะเลย์เพื่อร่วมงานแฟร์ ปรากฎว่าก็ได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อที่เข้ามาเที่ยวชมงานอย่างล้นหลาม  เป็นการช่วยกันตอกย้ำให้คนเมียนมาเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้าของไทยเราเป็นอย่างดีครับ

แต่อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าและการนำเข้าสินค้าไทยไปยังประเทศเมียนมา ก็ยังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่ปัญหาการขออนุญาตนำเข้าสินค้า ใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ยังคงได้รับการปกป้องจากภาครัฐของเมียนมาอยู่ เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเขา ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้นๆ ได้ หรือแม้แต่ปัญหาเล็กๆ ที่สามารถใช้ความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนเข้าแก้ไขได้

อย่างเช่นปัญหาเส้นทางการขนส่ง แต่ก็ถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายพยายามสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้การขนส่งสินค้าจากแม่สอด-เมียวดีเพื่อส่งสินค้าไปยังกรุงย่างกุ้ง ที่เป็นช่องทางหลักที่ทั้งไทยและเมียนมา ต่างก็ใช้ช่องทางนี้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ก็ติดๆ ขัดๆ มาสักระยะหนึ่งแล้ว ส่งผลให้ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเรา ลดลงอย่างน่าใจหาย

ท่านทูตพานิชย์ได้นำปัญหาดังกล่าวมาพูดคุยกับผมตลอดเวลา เพื่อจะได้ช่วยกันหาช่องทางอื่น มาชดเชยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย-เมียนมา เราต่างนำเอามุมมองต่างๆ มาช่วยกันวิเคราะห์หาความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะเราต่างเป็นห่วงปัญหาดังกล่าวที่อาจจะยึดเยื้อ ไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่มีใครคาดเดาได้นั่นเองครับ

ด่านชายแดนต่างๆ เกือบจะทุกด่าน ที่เป็นหัวข้อสนทนาปรึกษาหารือกัน ต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายๆ กันเกือบทุกที่ คือ “ต้นทุนที่สูงขึ้น” เพราะการขนส่งที่อยู่ห่างจากตลาด(กรุงย่างกุ้ง) ยิ่งการคมนาคมจากด่านชายแดนสู่กรุงย่างกุ้ง ถนนหนทางไม่ได้มีสภาพที่เหมือนในประเทศไทยเรา จึงทำให้ผู้ประกอบการขนส่ง เขาต้องคิดต้นทุนเผื่อไว้สูงมากนั่นเองครับ

มีอยู่ด่านหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะสามารถชดเชยการค้าชายแดนได้ แต่ก็ไม่ค่อยมีผู้ประกอบการไปใช้กันมากนัก คือ “ด่านสิงขร” ซึ่งเป็นด่านบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับหมู่บ้านเมาตอง (Maw Doung) ประเทศเมียนมา ทางด้านฝั่งไทย คือพื้นที่ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในยุคของท่านนายกพลเอกประยุทธ์ ท่านได้ยกสถานะจากด่านผ่อนปรนชั่วคราว หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “ช่องทางธรรมชาติ” เป็น “ด่านผ่อนปรนพิเศษ” ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ด่านถาวร แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงไม่สามารถยกระดับได้เต็มที่ เพราะยังคงมีปัญหาเรื่องการยกระดับดังกล่าว มีเหตุผลเพราะการชี้จุดพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมา ยังคงมีมุมมองที่แตกต่างกันอีกเล็กน้อย

เพราะคำว่า “สันปันน้ำ” ที่ใช้เป็นเส้นเขตแดน ยังคงต่างฝ่ายต่างชี้กันไม่จบเสียที แต่คาดว่าอีกไม่นาน เราคงได้เห็นการยกระดับเป็นด่านถาวรแน่นอน ซึ่งในช่วงชีวิตผมที่ยังมีลมหายใจอยู่ น่าจะได้เห็นหรือเปล่าก็ยังตอบไม่ได้ครับ 

ในอดีตด่านสิงขรนี้ เป็นด่านที่พวกพ่อค้าไม้ใช้เป็นด่านลำลียงไม้เข้าสู่ประเทศไทย เพราะฝั่งเมียนมาที่มีป่าไม้ตามเทือกเขาตะเนงด่ายี่ (ตะนาวศรี) ที่สมบูรณ์มากๆ อีกทั้งพันธุ์ไม้ที่หายากในยุคนั้น ยังคงมีการขนส่งเข้ามายังประเทศไทยเรา เพื่อเป็นการส่งต่อไปยังต่างประเทศกันอย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันนี้ป่าไม้เริ่มจะหมด ทางการเมียนมาจึงอนุญาตให้ส่งออกได้แค่ผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูปเท่านั้น

ปัจจุบันนี้ที่หน้าด่านจะมีตลาดเปิดค้า-ขายกันทุกวัน เนื่องจากมีการผ่อนผันให้ชาวเมียนมา ข้ามฝั่งนำสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ เข้ามาวางขายได้ ภายในตลาดด้านซ้ายสุด จะมีการขายเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ก็จะมีขายกันอยู่ไม่น้อย สินค้าไทยที่ขายไปฝั่งเมียนมา ก็มีทั้งสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องครัวต่างๆ เสื้อผ้า อาหารและเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนสินค้าเมียนมาก็จะมีสินค้าการเกษตร เช่น ผักสด ผลไม้บางชนิด เครื่องประดับและต้นไม้ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้มีจำนวนมาก เหมือนฝั่งแม่สอด ระนอง และแม่สายครับ 

ตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้ช่องทางนี้ของฝั่งเมียนมา คือ “เมืองมะลิด” ในอดีตถนนหนทางที่จะเข้าไปสู่เมืองมะลิดจะย่ำแย่มาก อีกทั้งต้องข้ามสะพานที่พาดผ่านแม่น้ำ ที่รถใหญ่ไม่สามารถข้ามไปได้ การเดินทางต้องใช้เวลานานกว่าแปดชั่วโมง แต่ปัจจุบันนี้ ได้มีการสร้างสะพานและทำถนนใหม่ ใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงจากเมืองมะลิดก็สามารถถึงด่านสิงขรได้แล้ว ถนนสวยงามและสะดวกกว่าเดิมเยอะ เราสามารถขับรถยนต์ออกจากด่านสิงขรช่วงเช้า ก็ยังทันทานอาหารเที่ยงที่เมืองมะลิดได้เลยครับ

ผมคิดว่าด่านนี้ น่าจะเป็นด่านที่สามารถสร้างมูลค่าการค้าชายแดนได้เป็นอย่างดี เพราะที่เมืองมะลิดมีท่าเรือ ที่สามารถขนส่งสินค้าเข้าสู่กรุงย่างกุ้งได้ง่ายมาก อีกทั้งการขนส่งสินค้าทางเรือในอดีต ที่จะต้องส่งผ่านจังหวัดระนอง ที่จะต้องไปรอขึ้นเรือใหญ่อีกที ก็ล่วงเลยเวลาไปเป็นสองวันสองคืนกว่าจะถึงเมืองมะลิด แต่ถ้าด่านสิงขรเปิดเป็นด่านถาวรเมื่อไหร่ การค้าชายแดนจะพลิกโฉมทันที ดังนั้นพ่อค้า-แม่ค้าที่ทำการค้าชายแดนอยู่ ควรจะต้องรีบเข้าไปสำรวจตลาดชายแดนนี้ได้แล้วนะครับ จะได้ไม่ตกขบวนครับ